รรท.รอง ผบ.ตร. ขับเคลื่อน ศพดส.ตร. สู่ผลการปฏิบัติประจำปี พ.ศ.2567 ที่มีคุณภาพ มุ่งยกระดับประเทศไทยสู่ระดับ Tier 1

รรท.รอง ผบ.ตร. ขับเคลื่อน ศพดส.ตร. สู่ผลการปฏิบัติประจำปี พ.ศ.2567 ที่มีคุณภาพ มุ่งยกระดับประเทศไทยสู่ระดับ Tier 1

พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศพดส.ตร. เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาล ที่ตระหนักและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดเกี่ยวกับเด็ก สตรี ครอบครัว การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์และภาคประมง ซึ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และมุ่งหวังให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. ได้นำนโยบายรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติ โดยได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร./ผอ.ศพดส.ตร. ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้บรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ตามที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ 2024 (TIP Report) โดยประเทศไทยได้รับการจัดระดับให้อยู่ใน Tier 2 ต่อเนื่องเป็นปีที่สาม ศพดส.ตร.ได้ขับเคลื่อน 9 มาตรการ เพื่อยกระดับการแก้ไขสถานการณ์ค้ามนุษย์ ได้แก่ การจัดอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจตามจังหวัดชายแดน และ สตม. เกี่ยวกับกฎหมายค้ามนุษย์และกลไกการส่งต่อระดับชาติ หรือ (National Referral Mechanism : NRM) กำหนดมาตรการสกัดกั้น คัดกรองบุคคลต่างด้าวที่เป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงเดินทางเข้ามาในประเทศและป้องกันการเดินทางออกนอกประเทศโดยผิดกฎหมายที่จะถูกหลอกไปค้ามนุษย์โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน จัดประชุมความร่วมมือปราบปรามการค้ามนุษย์ เปิดศูนย์คัดแยกและส่งต่อผู้เสียหายระดับชาติอย่างเป็นทางการ ใช้แนวทางกลไกการส่งต่อระดับชาติอย่างเต็มรูปแบบ คัดกรองต่างด้าวที่ถูกจับกุมดำเนินคดีทุกราย ตลอดจนการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายเป็นไปตามหลักสากล ให้บริการ ที่เป็นมิตรกับผู้เสียหาย และดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ทุกราย

ศพดส.ตร. ได้เปิดโครงการอบรมสัมมนาพนักงานสอบสวนและสหวิชาชีพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวและการป้องกันการละเมิดสิทธิตามกฎหมายแรงงาน ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ ตลอดจนการบริหารจัดการคดีและการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ จำนวน 10 รุ่น รวม 1,800 คน นอกจากนี้ยังได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการสืบสวนเชิงนิติวิทยาศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์ให้กับชุดปฏิบัติการ TICAC เพื่อเสริมสร้างทักษะการสืบสวนเชิงนิติวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เกิดความเชี่ยวชาญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนการแสวงหาพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 10 รุ่น รวม 528 คน ตลอดจนฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาผู้รับผิดชอบในการดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ รวม 694 คน เพื่อให้ความรู้และป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับขบวนการค้ามนุษย์

นอกจากนี้ยังได้ให้ความสำคัญในการแสวงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ได้เข้าพบ คุณลิสา เอ. บูเจนนาส กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา เชียงใหม่ เพื่อร่วมหารือข้อราชการ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการปราบปรามการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงานทุกรูปแบบและอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความร่วมมือต่างๆ ในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา การปราบปรามยาเสพติด การสนับสนุนการจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนองค์การนอกภาครัฐ (NGOs) ในพื้นที่ จว.เชียงใหม่ และ จว.เชียงราย ร่วมหารือในประเด็นการประสานข้อมูลเบาะแสคดีค้ามนุษย์ การสืบสวนสอบสวนคดี การให้ความช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหาย การสร้างสื่อองค์ความรู้เตือนภัยแก่ประชาชน และการส่งเสริมการทำงานแบบบูรณาการในพื้นที่ เช่น การสนับสนุนการจัดทำห้องสอบสวนปากคำผู้เสียหายเด็ก การสนับสนุนเจ้าหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาในการสอบสวนปากคำผู้เสียหาย โดยร่วมบูรณาการกับทีมสหวิชาชีพในพื้นที่ การแจ้งเบาะแสและประสานส่งต่อให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย เป็นต้น

ศพดส.ตร. เปิดศูนย์คัดแยกและส่งต่อผู้เสียหายระดับชาติ (Thailand Victim Identification and Referral Center) ณ ถนนเชิดวุฒากาศ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง โดยยึดแนวทาง ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง และนำกลไกการส่งต่อระดับชาติมาปรับใช้ให้สอดคล้องต่อหลักสิทธิมนุษยชนและกติกาสากลระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น ภายใต้ขั้นตอนการปฏิบัติ ได้แก่ การรับแจ้งเหตุ การคัดกรอง การคัดแยก และการคุ้มครอง สร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศที่มีต่อการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทยมากยิ่งขึ้น

พล.ต.ท.ประจวบฯ ได้กำชับ ตม.จว. ที่มีพื้นที่ติดชายแดน ให้จัดตั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยเริ่มจาก ตม.จว.ตาก ได้แก่ สนามบินแม่สอดและจุดตรวจห้วยหินฝน เพื่อแจ้งเตือนคนต่างด่าวที่เดินทางมาในพื้นที่ อ.แม่สอด จว.ตาก ให้ระมัดระวังและรู้เท่าทันการถูกหลอกไปบังคับใช้แรงงานยังประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนกำชับตำรวจทุกหน่วยในกรณีจับกุมความผิดเกี่ยวกับคนต่างด้าว ให้มีการคัดกรองคนต่างด้าวทุกรายว่าเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์หรือไม่ ก่อนดำเนินการส่งตัวไปยัง สตม.เพื่อดำเนินผลักดันส่งกลับ ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ทุกราย ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสืบสวนขยายผลดำเนินคดีในทุกมิติ

พร้อมกันกันนี้ได้ลงพื้นที่ประชุมหารือแนวทางการป้องกันการค้ามนุษย์รูปแบบแรงงานประมงในพื้นที่ จว.สมุทรสาคร เพื่อรับทราบสถานการณ์ มาตรการป้องกันและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานราชการและผู้ประกอบการประมงในพื้นที่ และลงตรวจสภาพการจ้างงานในเรือประมง เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย ณ องค์การสะพานปลา จว.สมุทรสาคร ได้กำชับ บก.รน. และ ภ.จว. ที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล 22 จว. (ภ.1, 2, 7, 8, 9) ให้ความสำคัญ ประสานการปฏิบัติบูรณาการการปราบปรามการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย การบังคับใช้แรงงานในภาคประมง และแรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าประมง นอกจากนี้ได้ลงพื้นที่ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคัดแยกเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ในพื้นที่ อ.แม่สอด จว.ตาก พร้อมผู้แทนหน่วยราชการและภาคประชาสังคม (NGOs) กำชับการบูรณาการกำลังร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงในการคัดกรองบุคคลและยานพาหนะ ที่เดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักร และสกัดกั้นขบวนการผิดกฎหมายทุกช่องทาง ให้ ภ.จว., บก.สส. และ สภ.พื้นที่ชั้นใน ทำการสืบสวนขยายผล ประกอบการวางแผนสกัดกั้น กรณีจับกุมคนต่างด้าวทุกกรณี พร้อมตรวจเยี่ยมและมอบแนวทางการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ ตม.จว.ตาก ประจำจุดตรวจบ้านห้วยหินฝน ณ จุดตรวจความมั่นคง ตม.จว.ตาก และตรวจเยี่ยมกระบวนการคัดกรองบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) ณ ศูนย์บูรณาการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ กองร้อยอาสารักษาดินแดน อำเภอแม่สอดที่ 3 อ.แม่สอด จว.ตาก

สำหรับสถิติผลการปฏิบัติ ศพดส.ตร. ใน 4 ภารกิจ ประจำปี พ.ศ.2567 (1 ม.ค.67 – ปัจจุบัน) เปรียบเทียบกับปี พ.ศ.2566 พบว่ามีผลการปฏิบัติที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีการระดมกวาดล้างจับกุมความผิดค้ามนุษย์และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง 2 ห้วง ได้แก่ ในระหว่างวันที่ 20 – 31 ส.ค.67 และ 15 – 30 ก.ย.67 และความผิดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต ในระหว่างวันที่ 20 ส.ค. – 30 ก.ย.67 ประกอบกับการป้องกันปราบปรามที่เข้มข้นและมุ่งเน้นผลการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ดังนี้

สถิติการจับกุมคดีค้ามนุษย์ ปี พ.ศ.2567 จำนวน 360 คดี เพิ่มขึ้น 51 คดี โดยเป็นการค้าประเวณี/ผลิตสื่อลามก 336 คดี เพิ่มขึ้น 67 คดี

สถิติคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต ปี พ.ศ.2567 จับกุม 441 คดี ลดลง 100 คดี

สถิติด้านประมง ปี พ.ศ.2567 จับกุมเรือประมง 206 คดี เพิ่มขึ้น 139 คดี ผู้ต้องหา 285 คน เพิ่มขึ้น 166 คน และตรวจแรงงานประมง 34,957 คน ลดลง 13,120 คน

สถิติการคัดกรองตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) ปี พ.ศ.2567 คัดกรอง 9,935 คน เพิ่มขึ้น 4,859 คน โดยพบข้อบ่งชี้ 520 คน ลดลง 55 คน

พล.ต.ท.ประจวบฯ รรท.รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศพดส.ตร. กล่าวทิ้งท้ายว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งหวังว่าการระดมสรรพกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทุกภาคส่วน ในการเร่งรัดปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับเด็ก สตรี ครอบครัว การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมงจะประสบผลสำเร็จ ตอบสนองนโยบายรัฐบาล เสริมสร้างความเสมอภาค เท่าเทียม และรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ภายใต้กรอบของกฎหมาย สร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศในการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทยมากยิ่งขึ้น ประชาชนและสังคมมีความสงบเรียบร้อยสืบไป