ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วม อย. และสำนักงานเขต กทม. ลุยค้น 7 ร้านซุปเปอร์มาเก็ตจีนทั่วกรุง เฟส 2
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมปฏิบัติการตรวจค้นร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไปที่นำเข้ามาจากประเทศจีน 7 จุด ตรวจยึดของกลาง 97 รายการ จำนวนกว่า 2,411 ชิ้น
พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน และได้รับการประสานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ทำการตรวจสอบร้านขายสินค้าทั่วไปที่นำเข้ามาจากประเทศจีน โดยเฉพาะอาหารที่ไม่มีเลขสารบบอาหาร (อย.) หรือ อาหารที่ไม่มีการแสดงฉลากเป็นภาษาไทย โดยหากประชาชนซื้อไปบริโภคอาจทำให้เข้าใจสรรพคุณ วิธีการบริโภค และส่วนประกอบต่างๆ คลาดเคลื่อน อีกทั้งไม่สามารถทราบถึงแหล่งผลิต และมาตรฐานในการผลิต จนเกิดอันตรายในการบริโภค
โดยเมื่อประมาณปลายเดือนกรกฎาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารแลย (อย.), เจ้าหน้าที่สำนักอนามัย และสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ปฏิบัติการตรวจค้นร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพหานคร เฟส 1 จำนวน 12 จุด และมีมาตรการเฝ้าระวังร่วมกันมาโดยตลอด ต่อมาพบว่ายังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีการแสดงฉลากเป็นภาษาไทยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงเป็นที่มาของการระดมกวาดล้างร้านจำหน่ายสินค้าลักษณะดังกล่าวอีกในครั้งนี้
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารแลย (อย.), เจ้าหน้าที่สำนักอนามัย และสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร เข้าตรวจสอบร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไป (ซุปเปอร์มาเก็ตจีน) จำนวน 7 แห่ง ดังนี้
1. ร้านค้าโครงการสวนเพลินมาร์เก็ต แขวงคลองเตย เขตคลองเคย กรุงเทพมหานคร ตรวจยึด อาหารที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย จำนวน 18 รายการ รวม 611 ชิ้น ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที อาหารกึ่งสำเร็จรูป และเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
2. ร้านค้าในซอยรามคำแหง 2 ถนนบางนาตราด แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดอาหารที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย จำนวน 32 รายการ จำนวนรวม 487 ชิ้น ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที อาหารกึ่งสำเร็จรูป และเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
3. ร้านค้าย่านถนนเจริญกรุง แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดอาหารที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย จำนวน 12 รายการ จำนวนรวม 377 ชิ้น ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท อาหารกึ่งสำเร็จรูป
4. ร้านค้าย่านถนนราชเทวี แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ตรวจยึด อาหารที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย จำนวน 7 รายการ จำนวนรวม 343 ชิ้น ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที อาหารกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท เป็นต้น
5. ร้านค้าย่านซอยศูนย์วิจัย ถนนพระราม 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึด จำนวน 11 รายการ ตรวจยึดผลิตภัณฑ์รวมจำนวน 324 ชิ้น ได้แก่ เครื่องดื่มผงสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารพร้อมบริโภค (เมล็ดทานตะวันอบเกลือ น้ำพริกเผาและลูกพรุนอบแห้ง) และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ (ปลาแห้งปรุงรส) เป็นต้น
6. ร้านค้าย่านถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดอาหารที่ต้องสงสัยแสดงฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 7 รายการ รวมจำนวน 152 ชิ้น ได้แก่ อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท, อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที, อาหารกึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น
7. ร้านค้าย่านถนนศรีวราห์ แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึด จำนวน 10 รายการ จำนวนรวม 117 ชิ้น เช่น อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมปัง เป็นต้น
รวมตรวจยึดของกลาง จำนวน 97 รายการ จำนวนกว่า 2,411 ชิ้น มูลค่ากว่า 141,000 ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี โดยผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดทั้งหมดในครั้งนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่แสดงฉลากภาษาจีน และนำเข้ามาจากประเทศจีนทั้งหมด
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 6(10) ฐาน “จำหน่ายอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า จากการข่าวทราบว่าอาหารลักลอบหนีภาษีจากประเทศจีนถูกนำเข้ามายังประเทศไทยโดยรถบรรทุกผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว นำเข้ามาเก็บในโกดังแถวจังหวัดปริมณฑลแล้วกระจายขายต่อในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ อย. จะได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหาร เครื่องสำอาง ลักลอบนำเข้าไม่เสียภาษีศุลกากรต่อไป และ อย. จะตรวจสอบร้านจำหน่ายอาหารโดยเข้มงวดและดำเนินคดีตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งได้แจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกจังหวัด ให้ตรวจสอบเฝ้าระวังในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จึงขอเตือนให้ร้านค้าจำหน่ายสินค้านำเข้า เลือกสินค้าที่ถูกกฎหมายมาขายในร้าน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ในส่วนของผู้บริโภค ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทยมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน ระบุชื่ออาหาร ชื่อ ที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้นำเข้า วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน แสดงส่วนประกอบ น้ำหนักสุทธิ และเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. การรับประทานอาหารที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลขสารบบอาหาร (ไม่มี อย.) อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากไม่ทราบแหล่งผลิตที่แน่ชัด ไม่มีการรับรองว่าสถานที่ผลิตนั้นถูกสุขลักษณะหรือไม่ ใส่สารใดลงไปในอาหารบ้าง หากผู้บริโภคพบการกระทำผิดแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: [email protected] ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการระดมกวาดล้างการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิต ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมาแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ยังมีการเฝ้าระวังอยู่โดยตลอด เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการบริโภคผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค โดยผลิตภัณฑ์อาหารจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนจำหน่าย ทั้งแฟลตฟอร์มออนไลน์และหน้าร้านทั่วไป หากพบไม่มีเลขสารบบอาหาร อย่าซื้อมารับประทานโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายต่อพี่น้องประชาชนได้ เนื่องจากไม่ทราบแหล่งผลิตที่ใดและแหล่งผลิตนั้นมีมาตรฐานตามที่กำหนดไว้หรือไม่ และขอฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าอย่าซื้อ และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา