ตำรวจไทยประจำเกาหลี จับกุมผู้ต้องหาหมายแดงชาวไทย ขบวนการค้ามนุษย์

สำนักงานตำรวจแห่งชาติกับความพยายามในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและการค้ามนุษย์: จับกุมผู้ต้องหาคนไทยจากขบวนการค้ามนุษย์ที่หลบหนีไปยังสาธารณรัฐเกาหลีตั้งแต่ปี 2562

พ.ต.ต.ณกรณ์ พรหมมะ นายตำรวจประสานงานประจำสาธารณรัฐเกาหลี รายงานผลการติดตามจับกุมผู้ต้องหาคนไทยในขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ คดีปี 2562 ของ สภ.เมืองนครปฐม เกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบขนชาวโรฮิงญา มาจากประเทศพม่าผ่านชายแดนไทยเพื่อไปส่งให้กับขบวนการใหญ่ที่ประเทศมาเลเซีย โดยกลุ่มผู้เสียหายรวมตั้งแต่เด็กหญิงไปจนถึงผู้ใหญ่ ต่อมาถูกเจ้าหน้าที่สกัดกั้นไว้ได้และขยายผลไปทั้งขบวนการ คดีนี้ผู้ต้องหามีส่วนร่วมในการลำเลียงขนส่งซึ่งถือว่าเป็นผู้ส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในการค้ามนุษย์ผู้ต้องหา 2 ราย หลบหนีมายังสาธารณรัฐเกาหลีทันทีที่ขบวนการถูกตรวจพบจับกุมได้ในปี 2562

ต่อมาพนักงานสอบสวนมีความพยายามในการติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาจึงได้มีการร้องขอการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการติดตามตัวมายังกองการต่างประเทศ ต่อมาภายใต้การขับเคลื่อนศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปชก.ตร.) โดย พล.ต.อ.ธนา ชูวงค์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปชก.ตร. ได้มีการขับเคลื่อนงานติดตามผู้ต้องหาคนไทยที่หลบหนียังต่างประเทศ จึงทำให้มีการดำเนินงานเชิงรุกอย่างบูรณาการ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานและระหว่างประเทศและเร่งกระบวนการ ทำให้มีข้อมูลสืบสวนเพียงพอให้ พ.ต.ต.ณกรณ์ฯ ได้ทำการสืบสวนต่อร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจจังหวัดกยองกีนัมบู (Gyeonggi Numbu Provincial Police) สำนักงานตำรวจแห่งชาติสาธารณรัฐเกาหลี (Korean National Police) ที่ได้รับมอบหมายคดีจากหน่วยประสานงานกลางตำรวจสากลประจำกรุงโซล (NCB Seoul) จนทราบตำแหน่งที่อยู่ของผู้ต้องหาทั้ง 2 รายและนำไปสู่การจับกุมตัวและผลักดันกลับประเทศไทยเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรรมในระยะเวลาเพียง 1 เดือน โดยการผลักดันส่งกลับได้รับการขับเคลื่อนโดย พล.ต.ต.ประพันธ์ศักดิ์ ประสานสุข ผบก.สส.สตม./ผู้ช่วยเลขานุการ ศปชก.ตร. ทำให้การส่งกลับผู้ต้องหาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและรวดเร็ว

โดยจับกุมผู้ต้องหาชื่อ “นายนิคม (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลจังหวัดนครปฐม ที่ 121/2562 ข้อหา ร่วมกันค้ามนุษย์ กระทำแก่บุคคลอายุไม่เกิน 15 ปีอายุเกิน 15 ปียังไม่ถึง 18 ปี โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปฯ RED Notice เลขที่ A-5802/5-2024 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 จับกุมได้ที่ เมืองนาจู (Naju-si) จังหวัดโจลลานาม (Jeollanam-do) ทางตอนใต้ของประเทศเกาหลี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 06.45 น. ผลักดันกลับประเทศไทยเมื่อวันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน 2567 จากสนามบินปูซาน – กรุงเทพ

รายที่ 2 นายธนวัช (สงนสามสกุล) หมายจับศาลจังหวัดนครปฐม ที่ 119/2562 ลง 28 มี.ค.2562 RED Notice: A-5800/5-2024 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 จับกุมเมื่อ 7 กรกฎาคม 2567 เวลาประมาณ 18.20 น. ที่บ้านเลขที่ Jinap-ri, Janghoewon, Inchoen (เมืองอินชอน ทางตะวันตกของเกาหลี ผลักดันส่งกลับ วันอังคาร 16 กรกฎาคม 2567 สนามบินอินชอน – สุวรรณภูมิ Jeju Air (20.40 – 00.35)

นอกจากคดีนี้ยังมีหลายคดีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองการต่างประเทศ (NCB Bangkok) พยายยามที่จะติดตามตัวผู้ร้ายคนไทยที่ยังหลบหนีในต่างประเทศเพื่อกลับมาดำเนินคดีในประเทศ ทั้งความผิดฐานปล้นทรัพย์ ไปถึงความผิดฉ้อโกงที่อาจจะไม่ได้รับความสำคัญมากนัก อย่างไรก็ตามนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในความริเริ่มและความพยายามในการยกระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ได้รับความน่าเชื่อถือในระดับสากล โดยที่คดีนี้ยังถือเป็นงานด้านการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ที่ปัจจุบันได้การจัดเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ให้อยู่ใน Tier 2 เพราะฉะนั้นจึงเชื่อว่าการติดตามจับกุมผู้ต้องหาค้ามนุษย์ในต่างประเทศจะนำไปสู่การได้รับการจัดอันดับไปสู่เทียร์ 1 ในปีถัดไป