กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย, พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ,พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก, เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.วีระชัย นลวชัย
รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมปฏิบัติการ ระดมกวาดล้างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน 7 ยี่ห้อ ตรวจค้น 5 จุด ตรวจยึดของกลาง จำนวน 21 รายการ มูลค่ากว่า 450,000 บาท
พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากปัจจุบันประชาชนหันมาดูแลสุขภาพและให้ความสำคัญในการลดน้ำหนัก โดยการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับลดน้ำหนักเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่นิยมใช้ และเข้าถึงง่าย และมีการจำหน่ายอย่างแพร่หลาย อาจเป็นช่องว่างให้ผู้ผลิตลักลอบผสมวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1(ไซบูทรามีน) ไปในผลิตภัณฑ์ ซึ่งเมื่อรับประทานแล้ว อาจทำให้ปวดหัว ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก เสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด และเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ในกรณีผู้มีโรคประจำตัวอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จึงมีการเฝ้าระวังกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยตลอด
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและได้รับเรื่องร้องเรียนจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับลดน้ำหนัก
บนแพลตฟอร์มออนไลน์ จึงเป็นที่มาของปฏิบัติการกวาดล้างเครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักผสมไซบูทรามีน จำนวน 7 ยี่ห้อ ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร จ.พิษณุโลก จ.นครสวรรค์ และ จ.นครปฐม รวม 5 จุดตรวจค้น รายละเอียดดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ ซีไอเอส(CIS) สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนยี่ห้อ CIS DIETARY SUPPLEMENT PRODUCT ผ่านแพลตฟอร์ม Shopee ชื่อ “Cis_janekwan” ซึ่งมีการโฆษณาขายโดยอ้างว่ามีเลขสารบบอาหารถูกต้อง
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้จำหน่ายเพื่อตรวจสอบ
พบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีเลขสารบบอาหารระบุอยู่บนฉลากบรรจุภัณฑ์แต่อย่างใด เมื่อส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (ไซบูทรามีน) ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว จึงได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ทำการตรวจสอบ
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนจนทราบถึงสถานที่ที่เกี่ยวข้อง โดยในวันที่ 24 พฤษภาคม 2567
ได้ร่วมกับ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำหมายค้นของศาลเข้าตรวจค้น ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก และ จ.นครสวรรค์ จำนวน 2 จุด ดังนี้
1.1. สถานที่ผลิต ในพื้นที่ ต.ดอนทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก ผลการตรวจสุขลักษณะสถานที่ผลิตอาหาร พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ GMP ตามที่กฎหมายกำหนด
1.2. ผู้จัดจำหน่าย ในพื้นที่ ต.วัดไทร อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนยี่ห้อ CIS ต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน และมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 3,720 แคปซูล รวมทั้งกล่องบรรจุภัณฑ์สำหรับแพ็คส่งสินค้า จำนวนหนึ่ง รวมของกลางทั้งสิ้น 4 รายการ มูลค่ากว่า 50,000 บาท และพบ น.ส.เจนขวัญ (สงวนนามสกุลจริง) อายุ 25 ปี เป็นผู้นำตรวจค้น โดย น.ส.เจนขวัญฯ อ้างว่าตนเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึด และเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจริง โดยจำหน่ายเดือนละ 100 – 200 กระปุก มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ประมาณเดือนละ 30,000 บาท โดยทำมาแล้วเป็นเวลาประมาณ 2 ปี
2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ New Slim สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ให้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ยี่ห้อ New Slim ที่โฆษณาจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ แอฟพลิเคชั่น ติ๊กต๊อก (Tiktok) ชื่อ “@ninew.phetthae” โดยในวันที่ 23 เมษายน 2567 ได้นำหมายค้นของศาลแขวงนครปฐม เข้าทำการตรวจค้น สถานที่จัดเก็บจำหน่ายและส่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ต.หนองปากโลง อ.เมือง จ.นครปฐม ผลการตรวจค้นพบ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก, ซองซิปล็อคเปล่าสีชมพู, กระปุกเปล่าสีเขียว และสติ๊กเกอร์ ระบุข้อความ New Slim ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจคาดว่าใช้สำหรับการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบถามเจ้าของผลิตภัณฑ์ทราบว่า ตนได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากช่องทาง (Shopee) ชื่อร้าน “ไอซ์ 168” แล้วนำมาแบ่งบรรจุใส่ซองซิป จำหน่ายผ่านช่อง Tiktok ของตนเอง
จากกรณีดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนขยายผลถึงผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักดังกล่าว จนทราบว่า ร้าน “ไอซ์ 168” ดังกล่าวมีสถานที่จัดเก็บ และกระจายสินค้าให้แก่ลูกค้า อยู่ในพื้นที่ แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร
ต่อมาในวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติหมายค้นต่อศาลแขวงธนบุรี เข้าตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จำนวน 2 จุด ดังนี้
2.1. สถานที่จัดเก็บ ถนนพระราม 2 แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 9 รายการ รวม 984 ชิ้น , ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จำนวน 1 รายการ รวม 460 ชิ้น
2.2. สถานที่จัดเก็บและจำหน่ายโดยหน้าร้านเปิดเป็นร้านรับส่งพัสดุ ถนนพระราม 2 แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 4 รายการ รวม 470 ชิ้น, ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จำนวน 8 รายการ รวม 2,024 ชิ้น, ผลิตภัณฑ์ยา จำนวน 1 รายการ รวม 120 ชิ้น และ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร จำนวน 3 รายการ รวม 239 ชิ้น
จากการตรวจค้น พบว่าสถานที่ดังกล่าวได้มีการปิดบังอำพรางโดยเปิดหน้าร้านเป็นร้านรับส่งพัสดุแต่ภายในร้านใช้เป็นสถานที่จัดเก็บสินค้าผิดกฎหมายจำนวนมาก พร้อมจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ทั้ง Shopee Lazada มียอดขายประมาณ 4,000- 5,000 ชิ้น ต่อเดือน โดยมีจำหน่ายมาแล้วกว่า 2 ปี
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้ทดสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวัตถุดิบที่ตรวจพบด้วยชุดตรวจไซบูทรามีน ผลการทดสอบเบื้องต้นปรากฎผลเป็นบวก จำนวน 6 รายการ ประกอบด้วย
1.1 ผลิตภัณฑ์กาแฟ ยี่ห้อ Vitaccino
1.2 ผลิตภัณฑ์กาแฟ ยี่ห้อ Slimming Coffee
1.3 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ Lishou
1.4 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ Baschi
1.5 ผลิตภัณฑ์ กาแฟลดความอ้วน ยี่ห้อ 1+3
1.6 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ บาชิ
รวมตรวจค้นกรุงเทพมหานคร 2 จุด ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 4 รายการ, ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จำนวน 9 รายการ, ผลิตภัณฑ์ยา จำนวน 1 รายการ และ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร จำนวน 3 รายการ รวมตรวจยึดของกลาง จำนวน 17 รายการ จำนวนกว่า 4,297 ชิ้น มูลค่ากว่า 400,000 บาท
*รวมกวาดล้างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน จำนวน 7 ยี่ห้อ ตรวจค้น 5 จุด ตรวจยึดของกลางเป็น 1. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน ต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน ยี่ห้อ CIS จำนวน 3,720 แคปซูล, 2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน ต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน (ยี่ห้อ Lishou, Baschi และ บาชิ) จำนวน 12,650 ชิ้น, 3. ผลิตภัณฑ์กาแฟ ต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน (ยี่ห้อ Vitaccino, Slimming Coffee และ 1+3) จำนวน 8,655 ชิ้น รวมของกลาง 21 รายการ มูลค่ากว่า 450,000 บาท นำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี
สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจยึด จะต้องส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปตรวจ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเพื่อยืนยันอีกครั้ง หากตรวจพบสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อไป
อนึ่ง หากสืบสวนเพิ่มเติม พบความเชื่อมโยงถึงเครือข่ายผู้ผลิต และผู้จำหน่ายรายอื่น ๆ จะได้ดำเนินการขยายผลถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป
เบื้องต้นการกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. ประมวลกฎหมายยาเสพติด ฐาน “จำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 โดยกระทำเพื่อการค้า” โทษตามมาตรา 149 วรรคสอง (1) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท
2. กรณีพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบัน หรือมีการผสมสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ จะเป็นความผิด ฐาน “ผลิต/ จำหน่ายอาหารที่ไม่บริสุทธิ์” ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25(1) โทษตามมาตรา 58 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ในส่วนผลิตภัณฑ์ที่แสดงฉลากไม่ถูกต้องจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 6(10) ฐาน “จำหน่ายอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวน ขยายผล จนสามารถตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผิดกฎหมายได้จำนวนมาก
โดยการปฏิบัติการในครั้งนี้ อย. ได้เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักเป็นกรณีพิเศษ โดยร่วมกับตำรวจ บก. ปคบ.เฝ้าระวัง และแจ้งข่าวเตือนประชาชนให้ทราบข้อมูลอยู่เสมอเพื่อมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ จึงได้ขยายผลสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดจนมีการจับกุมดำเนินคดีผู้ลักลอบผลิตอาหารปลอม ผู้จำหน่ายรายใหญ่ที่กระทำผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น ทานแล้วลดน้ำหนักเห็นผลไว เห็นผลจริง ปลอดภัย การันตี ไม่มีผลข้างเคียง เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างใช้ลดน้ำหนักเหล่านี้มักพบว่า มีส่วนผสมของไซบูทรามีนหรือยาแผนปัจจุบัน
ผลที่ได้อาจไม่คุ้มเสีย เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังเสียสุขภาพจากผลข้างเคียงของยาและอาจทำให้เสียชีวิตได้
ขอย้ำเตือนประชาชนว่าการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทางสื่อออนไลน์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงมารับประทานเพื่อหวังผลตามกล่าวอ้างเสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และ อย.ไม่อนุญาตการโฆษณาที่อวดอ้าง เป็นเท็จ หลอกลวงและเกินจริง หากพบจะดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำการโฆษณาเกินจริงทุกกรณี
ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: [email protected] Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ การเลือกผลิตภัณฑ์สำหรับลดน้ำหนัก ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ อาจมีผู้ประกอบการที่ลักลอบใส่สารไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แล้วโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคว่าสามารถช่วยลดน้ำหนัก ทำให้ผู้บริโภคไปหลงเชื่อโฆษณาหลอกลวงซื้อมารับประทาน แล้วได้รับผลข้างเคียงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะสุขภาพที่ดีต้องประกอบด้วยการรับประทานอาหารและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และขอเน้นย้ำว่าไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ผู้ที่ลักลอบนำมาผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา