ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) กัดไม่ปล่อยรวบตัวการใหญ่ ผู้ต้องหาคดียูฟัน คาสนามบิน
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ,พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ภาคภูมิ ศรีลาภะมาศ พ.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เกศะรักษ์, พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ รอง ผบก.ปคบ.,พ.ต.อ.พงษ์พันธ์ ศิริภัทรนุกุล ผกก.3 บก.ปคบ., พ.ต.ท.เทพรัตน์ ศุกระกาญจน์, พ.ต.ท.ธงฉาน ตันบุญเจริญ รอง ผกก.3 บก.ปคบ. พ.ต.ท.มงคล นนท์ธีระโรจน์ ประจำ (สบ 3) บก. ปคบ.
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.วัลลภ นุชกำบัง พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ กก.3 บก.ปคบ.
ร่วมกันจับกุม นายนิโอ ฯ อายุ 42 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1301/2558 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2558 ในความผิดฐาน “ร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมดำเนินธุรกิจขายตรงไม่ตรงวัตถุประสงค์ในการจดทะเบียน ชักชวนคนเข้าร่วมเครือข่ายและตกลงให้ผลตอบแทนจากการหาสมาชิก, ร่วมกันประกอบธุรกิจเงินอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้รับอนุญาต, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ” ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4,5,12,15, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 ประกอบมาตรา 83, พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 19,21,46,48 ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 และประกาศกระทรวงการคลัง พ.ศ.2547 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(1) , พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 5,6,25 จับกุมที่สนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. ได้บุกทลายเครือข่ายแชร์ลูกโซ่รายใหญ่ บริษัท ยูฟันสโตร์ ซึ่งประกอบธุรกิจไม่ตรงตามที่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทขายตรงและออกเงินสกุลดิจิทัล ชื่อ ยูโทเคน หลอกลวงประชาชนสร้างความเสียหายมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท
ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปคบ. ได้ทำการสืบสวนทราบว่า นายนิโอ ฯ ผู้ต้องหาได้หลบหนีออกนอกราชอาณาจักร จึงได้ประสานความร่วมมือไปยังสำนักเลขาธิการตำรวจสากล และทำการสืบสวนอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา จนทราบว่า ผู้ต้องหาจะเดินทางเข้ามาในประเทศในวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 จากนั้นจึงวางแผนเพื่อวางกำลังจับกุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปคบ. ได้ประสานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ด่าน ตม.ทอ.ดอนเมือง งานขาเข้าระหว่างประเทศ ขณะทำการตรวจอนุญาตให้บุคคลเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งเมื่อตรวจพบผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปคบ.ชุดจับกุม จึงได้แสดงตัวพร้อมแสดงหมายจับเข้าจับกุมผู้ต้องหา แจ้งสิทธิและข้อกล่าวหาให้ทราบจากนั้นจึงได้ควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป