ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) รวบ 2 สามี ภรรยาบัญชีม้ารับโอนเงินเหยื่อกว่า 10 ล้านบาท ให้แก๊งหลอกลงทุน
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. สั่งการให้ พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พ.ต.อ.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.ปทักข์ ขวัญนา รอง ผบกป., พ.ต.อ.ภัทราวุธ อ่อนช่วย ผกก.5 บก.ป., พ.ต.ท.ฤทธิชัย ชุมช่วย, พ.ต.ท.หัตถพร ทองคำ, พ.ต.ท.หัตถพล ทองคำ และ พ.ต.ท.ณัติรุจน์ วัฒนะฉัตรรัตน์ รอง ผกก.5 บก.ป.
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.พงษ์ศักดิ์ มีมุสิก สว.กก.5บก.ป. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการที่ 5 กก.5 บก.ป.
ร่วมกันจับกุม
1.นายเอกฯ อายุ 40 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับของ ศาลอาญาธนบุรี ที่ 152/2567 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง”
2.นางสาวจิรนันท์ฯ อายุ 38 ปีผู้ต้องหาตามหมายจับของ ศาลอาญาธนบุรี ที่ 150/2567 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง”
จับกุมริมถนนใน ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต พฤติการณ์ ก่อนเกิดเหตุคนร้ายได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กซึ่งสร้างโปรไฟล์น่าเชื่อถือ และชักชวนผู้เสียหายร่วมลงทุนโดยอ้างว่าเป็นการลงทุนเพื่อกำไรจากการซื้อขายเงินคริปโตเคอร์เรนซี่ ผ่านเว็บไซต์ชื่อ Goldcoin ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงเริ่มโอนเงินเริ่มลงทุนครั้งแรกเป็นเงิน 10,000 บาท โดยคนร้ายได้สร้างบัญชีปลอมผ่านหน้าเว็บไซต์ดังกล่าวให้ผู้เสียหายสามารถตรวจสอบผลการลงทุนของตนเองได้ โดยวันแรกผู้เสียหายได้กำไรและสามารถสั่งถอนเงินบางส่วนออกมาได้ จึงหลงเชื่อลงทุนเพิ่มรวมกว่า 10 ล้านบาท โดยการโอนเงินเข้าบัญชีของสองสามีภรรยาคู่นี้ ต่อมาเมื่อต้องการถอนเงินออกจากระบบกลับไม่สามารถทำรายการได้ เมื่อทวงถามคนร้ายกลับบ่ายเบี่ยงและหลอกให้โอนเงินเพิ่ม ผู้เสียหายรู้ตัวว่าถูกหลอกจึงเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มคนร้ายในคดีนี้ พนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขอออกหมายจับผู้ต้องหา 2 รายนี้ พร้อมพวกรวม 9 ราย
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนทราบว่า นายเอกฯ และนางสาวจิรนันท์ฯ ได้หลบหนีการจับกุมมาอาศัยอยู่พื้นที่ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต จึงวางแผนเข้าทำการจับกุมผู้ต้องหาทั้งสองรายไว้ได้ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวนสน. โคกครามดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบว่า นายเอกฯ มีหมายจับของ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่ จ.87/2567 ลงวันที่ 24 มกราคม 2567 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง” ขณะที่นางสาวจิรนันท์ฯ มีหมายจับของศาลอาญามีนบุรี ที่ จ.467/2566 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2566ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงและร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง” โดยหลังจากนี้จะประสานอายัดตัวต่อไป
สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ผู้ต้องหาทั้งสองให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยรับว่าประมาณปลายปี พ.ศ. 2566 ทั้งคู่เคยได้รับจ้างเปิดบัญชีให้กับผู้หญิงไม่ทราบชื่อ พร้อมทั้งสมัครแอปพลิเคชันของธนาคารในโทรศัพท์ที่ผู้หญิงคนดังกล่าวเตรียมมาให้ โดยได้รับค่าจ้างบัญชีละ 1,000 บาท โดยไม่ทราบว่าบุคคลดังกล่าวได้นำบัญชีไปใช้ในเรื่องใด