กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.จักรกริช เสริบุตร รอง ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.ชัชวาล ชูชัยเจริญ ผกก.2 บก.ปอศ. และ พ.ต.ท.วันเผด็จ จันยะรมณ์ รอง ผกก.2 บก.ปอศ.
เจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้น นำโดย พ.ต.ต.วรรณลพ รัตนวงษ์ สว.กก.2 บก.ปอศ. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการที่ 3 ของ กก.2 บก.ปอศ.
ร่วมกันตรวจค้น โกดังสินค้าไม่ติดเลขที่ ซอยจุฑามาศ 2 หมู่ 8 ตำบลห้วยเกตุ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ตามหมายค้นศาลจังหวัดพิจิตร ที่ ค.134/2567 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2567 ตรวจยึดของกลาง สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศ ประเภท ยากันยุง ประมาณ 269,500 ชิ้น โดยมีนายชัยรัตน์ฯ แสดงตนว่าเป็นผู้ดูแลสถานที่ดังกล่าว
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดตรวจค้นได้ทำการสืบสวนทราบว่า โกดังสินค้าดังกล่าว มีการนำเข้าสินค้าที่น่าเชื่อว่าลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศโดยผิดกฎหมาย มาจำหน่ายให้กับประชาชน จึงได้ทำการขอหมายค้นศาลอาญา พิจิตร ที่ ค.134/2567 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2467 เพื่อเข้าตรวจค้นและตรวจสินค้าโดยละเอียด โดยเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดตรวจค้นเข้าตรวจค้น พบนายชัยรัตน์ฯ แสดงตนเป็น ผู้ดูเเลโกดังดังกล่าว และเป็นผู้นำตรวจค้น ผลการตรวจค้นพบสินค้าลักลอบนำเข้าหนีภาษีจากต่างประเทศจริง เป็นยากันยุง กว่า 269,500 ชิ้น ซึ่งเมื่อปี 2566 ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาประกาศเตือนประชาชนให้ซื้อยากันยุงที่มีฉลากไทย และมีเลขผลิตภัณฑ์ เนื่องจากพบว่ายากันยุงที่นำเข้าจากต่างประเทศหลายยี่ห้อ มีสารกลุ่มไพรีทรอยด์ (pyerethriods ) เมเพอร์ฟลูริน (Meperfluthrin) และไดมีฟลูทริน (Dimefluthrin) ซึ่งมีพิษต่อคนและสัตว์ หากสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้รู้สึกมึนงง ปวดศรีษะ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนเพลีย ชัก และหมดสติได้ ดังนั้นสินค้าดังกล่าวต้องขออนุญาตนำเข้า ผลิต และจำหน่าย เพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพ และเมื่อเจ้าหน้าที่ได้ทำการขอตรวจสอบเอกสาร ทางผู้นำตรวจค้นไม่สามารถหาแสดงเอกสารการนำเข้าและการชำระภาษีศุลกากรมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำบันทึกตรวจค้นและยึดสินค้าดังกล่าวไว้ และแจ้งแก่ผู้ต้องหาว่าการกระทำดังกล่าว มีความผิดฐาน “ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของอันเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร” อันเป็นความผิดตามมาตรา 246 พรบ.ศุลกากรฯ
ซึ่งต่อมาภายหลังทางเจ้าของโกดังดังกล่าว ไม่สามารถนำเอกสารการนำเข้าและการชำระภาษีศุลกากรมาเเสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ดำเนินการตามกฏหมายต่อไป