วันอังคารที่ 5 มี.ค.67 เวลา 09.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย คณะผู้แทนไทย นำโดย นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร./ผอ.ศพดส.ตร. นางจตุพร แสงหิรัญ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์ และนางภิญญา จำรูญศาสตร์ ผู้อำนวยการกองต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ร่วมหารือกับ คุณ Amanda Rodriguez Executive Director จาก TurnAround NGOs ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันระหว่าง NGOs และหน่วยงานของรัฐ
โดยคุณอแมนดา ให้ความสนใจในผลการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศเด็กในประเทศไทย ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติไทย ได้ประสานความร่วมมือด้านข้อมูลกับ NCMEC ของประเทศสหรัฐอเมริกา และมีผลการจับกุมอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ ได้แจ้งในที่ประชุมว่า นอกจากการจับกุมคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กแล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไทยยังได้สืบสวนสอบสวนขยายผลดำเนินคดีกับผู้ใช้บริการทางเพศเด็ก ซึ่งในปี พ.ศ.2566 ได้ดำเนินคดีไปมากถึง 197 คน สูงกว่าปี พ.ศ.2565 ที่มีการดำเนินคดี 67 คน คิดเป็นร้อยละ 194.03 เลยทีเดียว
หลังจากนั้นเวลา 11.00 น. คณะผู้แทนไทย ได้เดินทางไปพบกับผู้บริหารกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ฝ่ายกิจการแรงงานระหว่างประเทศ นำโดย คุณ Marcia Eugenio Director ของ Office of Child Labor, Forced Labor and Human Trafficking (OCFT) ซึ่งในการหารือทางกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ให้ความสำคัญกับปัญหาการใช้แรงงานเด็กในประเทศไทย โดยเฉพาะในการแข่งขันมวยไทยในเด็ก รวมถึงการให้ความสำคัญกับห่วงโซ่การผลิตสินค้าทั้งกระบวนการที่ไม่ควรมีห่วงโซ่ใดที่ใช้แรงงานเด็ก ไม่ว่าห่วงโซ่นั้น ๆ จะอยู่ในประเทศใดก็ตาม
เวลา 14.00 น. คณะผู้แทนไทย ได้พบกับผู้แทน Office of Trafficking in Persons (OTIP) ของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ซึ่งประกอบด้วย คุณ Katherine Chon Director, คุณ Monica Rowsey Trafficking Program Specialist และคุณ Alyssa Wheeler Policy Analyst ซึ่งได้ให้คำแนะนำคณะผู้แทนไทยเกี่ยวกับบริการทางสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดเหยื่อจากการค้ามนุษย์ หรือการบำบัดผู้ปฏิบัติงานต่อต้านการค้ามนุษย์ หรือการให้การฝึกอบรมหน่วยงานทางการแพทย์ เพื่อดำเนินการดังกล่าว รวมถึงการประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน หรือการทำความตกลงระหว่างหน่วยงาน หรือระหว่างประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ รวมถึงแนวทางการป้องกันโดยการให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนในสถานศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
ซึ่งในส่วนนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ ได้เสริมในการหารือว่าในประเทศไทยโดย ศพดส.ตร. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ก่อตั้งโครงการ D.A.R.E.2 C.A.R.E. เพื่อให้ครูแดร์ไปให้การอบรมนักเรียนในโรงเรียนในพื้นที่สถานีตำรวจทั่วประเทศ เพื่อรู้เท่าทันการถูกล่วงละเมิดทางเพศและการค้ามนุษย์ โดยโครงการดังกล่าวได้ทำต่อเนื่องมา 4 ปีแล้ว ในปี พ.ศ. 2566 ให้การอบรมไป 38,469 ครั้ง ผู้เข้ารับการอบรม 946,268 คน ในสถานศึกษา 22,164 แห่ง และชุมชน 4,268 แห่ง
คุณ Monica ยังให้ความสนใจกับความร่วมมือในภูมิภาคของประเทศไทย ที่มีการให้ความช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ ในขบวนการ Scammer กลับมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ ได้ให้ข้อมูลว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความร่วมมือเป็นอย่างดีกับประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งทางการไทยก็สามารถให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยและเหยื่อค้ามนุษย์เหล่านั้นกลับมาได้ทั้งจากประเทศกัมพูชาในปีก่อน และจากเมียนมาร์ในปี พ.ศ.2566
ที่ผ่านมา โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีการทำความร่วมมือการส่งต่อพยานหลักฐานให้กับประเทศต่าง ๆ เพื่อดำเนินคดีกับขบวนการดังกล่าวทั้งในและนอกประเทศ
กระทั่งเวลา 16.00 น. คณะผู้แทนไทย ได้เข้าพบกับคุณ Hilary Axam Director ของ Human Trafficking Prosecution Unit, Criminal Section ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยที่ทำหน้าที่เป็นผู้ฟ้องคดีค้ามนุษย์ของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา และทำหน้าที่ประสานการปฏิบัติในการฟ้องคดี การดำเนินคดี และการร่วมกันคัดแยกเหยื่อค้ามนุษย์ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา รวมถึงยังได้หารือเกี่ยวกับความยากลำบากในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อนำสืบในการพิจารณาของศาลในคดีค้ามนุษย์ ที่มีความซับซ้อนมากกว่าคดีปกติ หรือแม้กระทั่งความยากลำบากในการพิสูจน์ตัวตนในการคัดแยกเหยื่อ ว่าใครคือผู้เสียหาย และใครคือผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ซึ่งต้องพิจารณาในหลายประการ โดยเฉพาะในขบวนการ Scammer ซึ่งเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ที่มีผลประโยชน์ตอบแทนมหาศาล
โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ ได้เสริมว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติไทย เป็นผู้จับกุมหนึ่งในบุคคลที่ทางการสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตร คือ นายสือ จื้อเจียง ซึ่งเป็นนายทุนจีนสีเทา ที่สร้างเมืองชเวโก๊ะโก ในประเทศเมียนมาร์ขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์ Scammer หรือ Call Center หลอกลวงคนทั่วโลก ซึ่งขณะนี้นายสือ จื้อเจียง ถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำของประเทศไทย
สำหรับการหารือกับหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาจะมีในวันพรุ่งนี้ คือวันพุธที่ 6 มี.ค.67 อีกหนึ่งวัน โดยจะมีการเข้าพบหารือกับ TIP Office กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และสมาชิกสภาของสหรัฐอเมริกา ที่รับผิดชอบดูแลการพิจารณา TIP Report