รวบหมอความงามเถื่อน อ้างเป็นแพทย์เฉพาะทางรักษาทั้งในเวียดนาม-ไทย

วันที่ 20 ธันวาคม 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เกศะรักษ์, พ.ต.อ.ภาคภูมิ ศรีลาภะมาศ, พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดย นายแพทย์ สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพร่วมกันปฏิบัติการ จับกุมผู้ต้องหาชาวเวียดนามอ้างตัวเป็นแพทย์ ให้บริการฉีดรักษา เสริมความงามให้ประชาชน ในคอนโดมิเนียมย่านพัฒนาการ

สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับแจ้งเบาะแสจากประชาชน ให้ทำการตรวจสอบเฟสบุ๊คภาษาเวียดนามชื่อ “Nguyễn Đăng Thiện” ( https://www.facebook.com/nho.thien.79?mibextid=9R9pXO ) ขอให้ทำการตรวจสอบบุคคลซึ่งปรากฎภาพ และคลิปการรักษาเสริมความงามให้ประชาชน ว่าเป็นแพทย์ที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เมื่อทำการตรวจสอบเฟสบุ๊คดังกล่าวพบว่า มีการโฆษณา และรีวิวการรักษาเสริมความงามให้ประชาชนทั่วไปจริง โดยอ้างว่าผู้ที่ทำการรักษาเป็นแพทย์เฉพาะทางชาวเวียดนาม เปิดให้บริการทั้งในประเทศเวียดนาม และในประเทศไทย โดยมีรูปแบบการทำหัตถการในการเสริมความงาม อาทิเช่น ทำตาสองชั้น, เสริมจมูก, ตัดปีกจมูก, เย็บปากรูปกระจับ, ฉีดโบท็อก, ฉีดเมโส ฯลฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงทำการสืบสวนจนทราบสถานที่ที่ใช้ทำการรักษา

ในวันที่ 19 ธันวาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. พร้อมกับเจ้าหน้าที่จาก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สบส.) ได้ร่วมกันนำหมายค้นของศาลอาญาพระโขนง เข้าทำการตรวจค้น ห้องพักแห่งหนึ่ง ย่านซอยพัฒนาการ 25 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร ขณะเข้าตรวจสอบพบว่าเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป และมีประชาชนรอรับบริการอยู่หลายราย และพบ Mr. DANG THIEN( สงวนนามสกุล) สัญชาติเวียดนาม แสดงตัวเป็นแพทย์ทำการตรวจรักษา และกำลังทายาชาเพื่อเตรียมฉีดฟิลเลอร์ให้ประชาชน จากการตรวจสอบผู้ทำการรักษาอ้างว่าตนเองเป็นแพทย์ชาวเวียดนาม และรับว่าไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทยแต่อย่างใด อีกทั้งสถานที่ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล และดำเนินการสถานพยาบาลแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ร่วมกันจับกุม Mr. DANG THIENฯ พร้อมตรวจยึดของกลาง ทั้งหมด 50 รายการ โดยตรวจเป็นยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 19 รายการ, เครื่องมือแพทย์ จำนวน 11 รายการ รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาและพยานหลักฐานอื่นๆ จำนวน 20 รายการ ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา Mr. DANG THIENฯ ในความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพ เวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา, เป็นบุคคลต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน

โดย Mr. DANG THIENฯ รับว่าตนเองเป็นแพทย์ชาวเวียดนาม เปิดทำการรักษาเสริมความงามให้ประชาชนที่ประเทศเวียดนาม และในประเทศไทย โดยตนจะเดินทางเข้ามาประเทศไทยเพื่อทำการรักษา เดือนละ 1 ครั้ง การนัดลูกค้าโดยการนัดผ่านเฟซบุ๊คและเปิดห้องพักย่านพัฒนาการเป็นสถานที่ทำการรักษา โดยทำมาแล้วประมาณ 1 ปี

การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม

  1. พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ “ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  4. พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ฐาน “ขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  5. พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  6. พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของบุคคลต่างด้าว พ.ศ.2560 ฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน” ระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 10,000 บาท

พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ควรศึกษาข้อมูลคลินิก แพทย์และขั้นตอนการรักษาให้ดีก่อนที่จะเข้ารับบริการเสริมความงาม โดยเฉพาะในครั้งนี้ แม้ผู้ที่ทำการรักษาจะอ้างว่าตนเป็นแพทย์ แต่การจะทำการรักษาให้ประชาชนได้นั้น จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทยด้วย เนื่องจากการเสริมความงามเป็นขั้นตอนและวิธีการที่จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ต้องใช้ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และเกิดผลกระทบกับร่างกายโดยตรง และแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่สวมรอยเป็นหมอ, หมอเถื่อน หรือคลินิกเถื่อน ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด พี่น้องประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า กรม สบส. ขอเน้นย้ำให้ประชาชนทุกคนพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนรับบริการทางการแพทย์ทุกชนิดจากสถานพยาบาล อย่าด่วนตัดสินใจรับบริการเพียงเพราะคำบอกเล่าปากต่อปากว่าดี ภาพโฆษณาที่สวยงาม หรือราคาที่ถูกกว่าแห่งอื่น หากเป็นการรับบริการครั้งแรกขอให้ลงไปตรวจสอบสถานที่จริงด้วยตนเอง พร้อมกับตรวจสอบชื่อคลินิกจากเว็บไซต์กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรม สบส.(htps: //mrd.hss.moph.go.th) และตรวจสอบชื่อแพ ทย์จากเว็บไซต์แพทยสภา (htps://www.tmc.or.tb) เพื่อความปลอดภัย หากไม่พบรายชื่อห้ามรับบริการโดยเด็ดขาด พร้อมแจ้งเบาะแสมาที่กรม สบส.ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 หรือหากอยู่ในส่วนภูมิภาคก็ขอให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ในวันและเวลาราชการ