การสนทนากลุ่ม (Focus Group) เพื่อระดมความคิดเห็นภายใต้แผนงานการพัฒนานโยบายและต้นแบบการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ได้มีการจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานวัตกรรมต้นแบบการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพื่อเป็นกลไกเฝ้าระวังและต่อต้านการทุจริต รวมถึงระบบการให้บริการของภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน ภายใต้แผนงานการพัฒนานโยบายและต้นแบบการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ ห้องประชุมเลอเซเลสต์ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยผู้แทนจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมที่ดิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ POLICE TV มหาวิทยาลัยศิลปากร บริษัท อัลทิเมท คอนซัลแทนท์ จำกัด บริษัท วิริน โซลูชั่น จำกัด บริษัท ส.เอี่ยมพัฒนา จำกัด  อาจารย์ นักวิชาการ คณะนักวิจัยโครงการ และผู้เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่าง ๆ

ผศ.พ.ต.อ.ดร.ธิติ มหาเจริญ รองคณบดี คณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้บริหารแผนงาน ได้กล่าวถึงแผนงานการพัฒนานโยบายและต้นแบบการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย โดยวัตถุประสงค์ของแผนงานเพื่อทบทวนนโยบายและยุทธศาสตร์การทำงานของหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวกับดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย และเพื่อสำรวจการรับรู้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคธุรกิจในการป้องกันการทุจริต รวมถึงเป็นกลไกเฝ้าระวังและต่อต้านการทุจริตของหน่วยงานภาครัฐ อันนำมาสู่การสร้างนวัตกรรมต้นแบบในการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ

ต่อมา พ.ต.ต.ดร.ปริญญา สีลานันท์ คณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ/หัวหน้าโครงการ ได้นำเสนอถึงโครงการ “การพัฒนาระบบการให้บริการของภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน” ซึ่งเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล“e-Service Center” ภายใต้แนวคิดการเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมระบบ e-Service ของหน่วยงานภาครัฐ สำหรับการอำนวยความสะดวกแก่องค์กรธุรกิจภาคเอกชนในภารกิจที่เกี่ยวข้อง

พ.ต.ท.วิชิต อาษากิจ คณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ/นักงวิจัย ได้นำเสนอโครงการ “การสร้างนวัตกรรมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพื่อเป็นกลไกเฝ้าระวังและต่อต้านการทุจริต หรือ Eagle Eyes Thailand” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาให้เป็นเครื่องมือสำหรับการต่อต้านการทุจริตและการรับหรือให้สินบน เป็นช่องทางเพื่อรวบรวมข้อมูลหรือเบาะแสการทุจริต และเป็นช่องทางในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ข้อมูลในเชิงบวก โดยให้ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการ ยกย่อง เชิดชู บุคคลที่กระทำความดีหรือบุคคลต้นแบบ คุณธรรม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมกำลังใจ ให้แก่บุคคลที่มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม

จากนั้น ได้มีการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล “e-Service Center” และนวัตกรรมต้นแบบ “Eagle Eyes Thailand” จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อนำความเห็นไปปรับใช้ประโยชน์และพัฒนาระบบให้เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสามารถวิเคราะห์ได้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้ใช้งานระบบ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการร่วมกันพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการเฝ้าระวังการทุจริต รวมถึงการพัฒนาระบบการให้บริการของภาครัฐ อันนำไปสู่การพัฒนาระบบให้เกิดประสิทธิภาพ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะสะท้อนถึงภาพลักษณ์เชิงบวก ด้านการจัดการปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยในสายตาของนานาชาติ รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในด้านการพิจารณาถึงการปลอดจากการทุจริตและวัฒนธรรมที่ไม่ทนต่อการทุจริตของคนไทย อันจะส่งผลการเพิ่มมูลค่าของการลงทุนและการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศในระยะยาว