วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ., กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดย นายแพทย์ สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี โดย นายแพทย์อภิรัต กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี และ นางรติกร ประเสริฐไทยเจริญ เภสัชกรเชี่ยวชาญ (ด้านเภสัชสาธารณสุข) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ร่วมปฏิบัติการจับกุมหมอเถื่อน ใช้บ้านพักเปิดรักษาจัดกระดูกให้ประชาชน
สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับการประสานจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อ “หมอเถื่อน” และในแอพลิเคชั่น TikTok ชื่อ “หมอเถื่อน ๒” มีการเผยแพร่ให้บริการจัดกระดูก เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย โดยผู้ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพและไม่ได้ทำในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาต ในพื้นที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.๔ บก.ปคบ. จึงได้ทำการตรวจสอบเพจเฟซบุ๊กและ TikTokดังกล่าว และพบว่า ได้มีการ โพสต์รูปภาพ วีดีโอภาพถ่าย วีดีโอการรักษาโรค และข้อความสื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจว่า สามารถตรวจรักษาผู้เจ็บป่วย โดยการรักษานวดจัดกระดูกได้จริง เมื่อทำการสืบสวนทราบว่า ผู้ที่ให้การรักษามีชื่อว่า “หมอติ” ซึ่งตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าไม่ได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพ และสถานที่ทำการรักษา เป็นบ้านพักส่วนบุคคคล ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเซ็นทรัลพาร์ค 1 หมู่ที่ 6 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
ต่อมาในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี (สสจ.ชลบุรี) นำหมายค้นศาลจังหวัดพัทยา เข้าทำการตรวจสอบบ้านพักส่วนบุคคคล ภายในหมูบ้านเซ็นทรัลพาร์ค 1 หมู่ 6 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เมื่อเดินทางไปถึง พบบ้านดังกล่าวดัดแปลงสถานที่ให้มีลักษณะคล้ายสถานพยาบาล โดยมีเตียงสำหรับรักษาผู้ป่วย มีการจัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการให้บริการผู้มารับการรักษา ขณะเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ พบ นายกิจติ (สงวนนามสกุล) หรือหมอติ อายุ 49 ปี กำลังรักษาประชาชนโดยการครอบแก้วที่บริเวณหลังของผู้ป่วย เมื่อสอบถามให้การรับว่าตนเป็นผู้โพสภาพคลิปวีดีโอระหว่างการรักษาผู้มาใช้บริการด้วยการนวดจัดกระดูกจริง และตนไม่ได้รับอนุญาตประกอบโรคศิลปะแต่อย่างใด และบ้านหลังดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาตเป็นสถานพยาบาลแต่อย่างใด พร้อมได้ทำการตรวจยึดยาแผนปัจจุบันจำนวน 54 รายการ รวมกว่า 3,800 แคปซูล สอบถามเบื้องต้น นายกิจติฯ รับว่าเป็นผู้รักษาประชาชนโดยการนวดจัดกระดูกจริง โดยยาแคปซูลที่ตรวจยึดตนเองเอาไว้รับประทาน และแบ่งขายให้กับผู้ป่วยที่มารักษา
เจ้าหน้าที่จึงร่วมกันจับกุม นายกิจติ ฯ พร้อมตรวจยึดยา อุปกรณ์ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เป็นของกลาง นำส่ง พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดีข้อหา “1. ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, 2. ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, 3. ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต, 4. ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา และ 5. ประกอบโรคศิลปะโดยไม่ได้รับอนุญาต” โดยนายกิจติฯ รับว่า ตนเองจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีความสนใจในการรักษาผู้ป่วยด้วยการนวดจัดกระดูก เมื่อประมาณปี 2560 จึงได้ไปศึกษาอบรมที่ สถาบันการแพทย์แผนไทยแห่งหนึ่ง จนรู้จักวิธีการนวดจัดกระดูก แต่ไม่ได้ไปสอบเพื่อขอรับใบอนุญาต จึงมารับนวดจัดกระดูกให้กับประชาชนที่บ้าน คิดค่ารักษาตามระยะเวลาที่นวด โดยราคานวดปรับระบบไหวเวียนพร้อมจัดกระดูกในเวลา 40 นาที คิดค่าบริการ 1,500 บาท เวลา 1ชั่วโมง 30 นาที คิดค่าบริการ 2,000 บาท เวลา 2 ชั่วโมง คิดค่าบริการ 2,500 บาท ซึ่งแต่ละวันจะมีประชาชนมาขอรับบริการประมาณ 3-5 คนต่อวัน
การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน
- ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา ตาม พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ประกอบโรคศิลปะโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ควรศึกษาข้อมูลและขั้นตอนการรักษาโรคให้ดีก่อนที่จะเข้ารับบริการ การตรวจรักษาโรคต้องกระทำโดยผู้มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม เนื่องจากการกระทำหัตถการกระทำกับร่างกายโดยตรง วิธีการที่จะต้องใช้ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ควรตรวจสอบสถานพยาบาล ผู้ทำการตรวจรักษา หรือแพทย์ที่ทำการรักษาว่าได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่ และแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่สวมรอยเป็นหมอ, หมอเถื่อน คลินิกเถื่อน หรือกลุ่มบุคคลที่อาศัยความหวาดกลัวต่อโรคร้าย และความเชื่อมั่นศรัทธาทางศาสนาของประชาชนมาเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด พี่น้องประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค