กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท., พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย, พ.ต.อ.วิระชาญ ขุนไชยแก้ว รอง ผบก.ปอท. และ พ.ต.อ.พิเชษฐ์ คำภีรานนท์ ผกก.3 บก.ปอท.
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.เสริมศักดิ์ น้อยหัวหาด, พ.ต.ท.พงษ์ธร โปนกแก้ว รอง ผกก.3 บก.ปอท., พ.ต.ท.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล, พ.ต.ท.ประดิษฐ์ สุวรรณดี, ว่าที่ พ.ต.ท.ประทีป จันทร์เพชรบุรี, ว่าที่ พ.ต.ท.หญิง สุธัญดา เอมเอก, พ.ต.ต.ภูบดี เอมประณีตร์, พ.ต.ต.เปตอง ด่านปรีดา พ.ต.ต.ปิยะพร เรียนสุทธิ์ สว.กก.3 บก.ปอท. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท., บก.ป. และ บก.ปอศ. จำนวนรวมกว่า 80 นาย เข้าตรวจค้นเป้าหมาย 23 จุด ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ชลบุรี ปทุมธานี นครราชสีมา ปราจีนบุรี อยุธยา สมุทรปราการ ชุมพร และตรัง
ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 13 ราย ระดับผู้รับผลประโยชน์ จำนวน 2 ราย ได้แก่ น.ส.ยุวธิดา ฯ อายุ 37 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ จ.3976/2566 ลงวันที่ 9 พ.ย.66 , นายวีรยุทธ ฯ อายุ 37 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ จ.3977/2566 ลงวันที่ 9 พ.ย.66 และผู้รับจ้างเปิดบัญชีม้า จำนวน 11 ราย
ในความผิดฐาน “ร่วมกันโดยทุจริตหรือหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดวามเสียหายแก่ประชาชน, ร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันให้ผู้อื่นกู้ยืมเงินหรือกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน โดยมีลักษณะเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือกำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้ หรือเรื่องอื่นๆ เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด, ร่วมกันทวงถามหนี้ในลักษณะข่มขู่ใช้ความรุนแรงหรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้และผู้อื่น และความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ”
พร้อมทำการตรวจค้น ร้านคาราโอเกะย่านอาร์ซีเอ (RCA) และบ้านของหุ้นส่วนผู้ดูแลร้าน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด พร้อมกันนี้ยังได้ทำการตรวจยึดของกลางรวมทั้งสิ้น 52 รายการ อาทิเช่น สมุดบัญชีธนาคารต่างๆ จำนวน 32 รายการ, โทรศัพท์มือถือ จำนวน 11 เครื่อง, โน้ตบุ๊ค, แท็ปเล็ต, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ จำนวน 3 รายการ และเอกสารอื่นๆ จำนวน 6 รายการ เป็นต้น
พฤติการณ์ของคดี สืบเนื่องจากเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ.2565 ผู้เสียหายได้ทำการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้แก่ Rich Loan, PleasantSheep, SummerCash, FortuneCat, GoldenTiger, FastCash, OrangeCash, GoldenFlower และ MemoryLoan โดยแอปฯ เหล่านี้มีการประกาศเชิญชวนให้ กู้ยืมเงิน อ้างว่าดอกเบี้ยต่ำ ได้เงินไว ภายหลังเมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงได้ดาวน์โหลดแอปฯ มาติดตั้งในโทรศัพท์มือถือ โดยในการลงทะเบียนเปิดใช้งานแอปฯ ดังกล่าว มีการขอสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย ไม่ว่าจะเป็น รายชื่อเบอร์โทรศัพท์, รูปภาพ, กล้อง, ตำแหน่งที่ตั้ง (GPS) และไมโครโฟน ซึ่งหากผู้เสียหายไม่ยินยอม ก็จะไม่สามารถเปิดใช้งานแอปฯ ดังกล่าวได้ ผู้เสียหายจึงอนุญาตให้แอปฯ สามารถเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย หลังจากนั้นผู้เสียหายจึงได้ทำการกรอกข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ตามที่แอปฯ กำหนด โดยกรอกข้อมูลชื่อสกุล, ที่อยู่, ที่มารายได้, ชื่อผู้ติดต่อ, เลขที่บัญชีเงินฝาก, ภาพบัตรประชาชนคู่กับใบหน้า รวมถึงเบอร์โทรศัพท์เพื่อรอรับรหัสยืนยัน (OTP)
ภายหลังเมื่อผู้เสียหายลงทะเบียนเปิดใช้งานแอปฯ เสร็จสิ้นแล้ว ผู้เสียหายจึงได้ดำเนินการขอกู้ยืมเงิน โดยทำการกู้ยืมเงินรวมจำนวน 11 ครั้ง รวมเงินที่กู้เป็นจำนวนกว่า 50,000 บาท ซึ่งในทุกครั้งที่กู้ยืมเงิน ผู้เสียหายจะได้รับเงินเพียงร้อยละ 55 ของยอดเงินที่กู้ และจะต้องคืนเงินเต็มจำนวนของยอดกู้ภายในระยะเวลา 6 วัน (หากคำนวนเป็นอัตราดอกเบี้ยแล้ว คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อวันหรือ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 225 ต่อเดือน หรืออัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2,737.5 ต่อปี) นอกจากนี้ยังมีบางครั้งที่ผู้เสียหายพบว่า มียอดเงินที่ตนเองไม่กู้ ถูกโอนเข้ามาในบัญชีของผู้เสียหาย พร้อมกับมีข้อความแจ้งให้ทราบว่าต้องชำระยอดเงินกู้นี้เพิ่มด้วย
ต่อมาเมื่อผู้เสียหายไม่สามารถชำระเงินกู้ที่กู้ยืมไว้ได้ จะมีบุคคลโทรศัพท์ติดต่อไปยังพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อติดตามทวงหนี้ อีกทั้งยังมีการส่งข้อความทาง SMS แนบรูปภาพตัดต่อใบหน้าของผู้เสียหายไปให้เพื่อนร่วมงาน หรือคนใกล้ชิด ทำให้เข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นผู้จำหน่ายเสพติด หรือค้าประเวณี ภายหลังผู้เสียหายจึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีกับคนร้ายในคดีนี้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปอท. จึงได้ทำการสืบสวนหาตัวผู้ร่วมขบวนหลอกลวงให้กู้เงินผ่านแอปฯ ออนไลน์ โดยพบว่าระบบของแอปฯ เหล่านี้ จะมีการโฆษณาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยมีการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีการกำหนดการผ่อนชำระเงินกู้ในลักษณะที่เป็นการบิดเบือนและอำพราง และมีการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ตัวอย่างเช่น อ้างว่าสามารถเลือกวงเงินได้ตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท มีเงื่อนไขเงินกู้ คือ สามารถชำระเงินคืนภายใน 91-121 วัน, จะคิดอัตราดอกเบี้ย 12-24% ต่อปี โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมอื่นๆ นอกจากนี้ทางระบบของแอปฯ ยังมีการขอสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในโทรศัพท์ โดยหากผู้กู้ไม่ยินยอม ก็จะไม่สามารถเข้าใช้งานแอปฯ เพื่อกู้ยืมเงินได้ ทั้งนี้จากการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่า ข้อมูลส่วนตัว และรูปภาพต่างๆ ที่ผู้กู้ได้กรอกเข้าไปในระบบของแอปฯ นั้นๆ ภายหลังจะถูกนำไปใช้ในการติดตามทวงเงินกู้ โดยจะมีการนำข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ของผู้กู้ ติดต่อโทรไปหาญาติพี่น้อง หรือคนใกล้ชิด อีกทั้งยังจะมีการนำภาพของผู้กู้ไปตัดต่อทำให้ได้รับความเสียหาย
จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินที่หลอกลวงผู้เสียหายนั้น พบว่ามีบัญชีธนาคารที่ถูกใช้ในการโอนเงินกู้ให้ผู้เสียหายจำนวน 6 บัญชี และมีบัญชีธนาคารที่ใช้รับโอนเงินคืนจากผู้เสียหาย จำนวน 6 บัญชี ซึ่งเงินในบัญชีเหล่านี้จะถูกโอนต่อไปยังบัญชีอื่นๆ อีกกว่า 100 บัญชี หลังจากนั้นจะมีการถ่ายโอนเงินไปให้กับผู้รับผลประโยชน์รายใหญ่ จำนวน 2 ราย โดยเงินจะถูกหมุนเวียนในบัญชีธนาคารต่างๆ ภายใต้ชื่อเดียวกันกว่า 30 บัญชี และจะมีการโอนเงินไปยังบัญชีต่างๆ ของธนาคารในประเทศไทยกว่า 50 บัญชี โดยใช้ชื่อบัญชีเป็นชาวรัสเซีย, เมียนมา, จีน และไทย เป็นต้น ซึ่งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของขบวนการหลอกลวงให้กู้เงินออนไลน์ทั้งขบวนการนี้ พบว่ามียอดเงินหมุนเวียนกว่า 500 ล้านบาท
จากข้อมูลการสืบสวนและการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหาจำนวน 16 ราย โดยในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย บก.ปอท., บก.ป. และ บก.ปอศ. ได้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนกว่า 80 นาย เข้าตรวจค้น และจับกุมผู้ต้องหาในระดับผู้รับผลประโยชน์ จำนวน 2 ราย และคนรับจ้างเปิดบัญชีม้า จำนวน 11 ราย รวมจำนวนผู้ต้องหาทั้งสิ้น 13 ราย จากนั้นจึงนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอฝากเตือนภัยประชาชน หากต้องการกู้ยืมเงิน ควรเลือกสถาบันทางการเงิน หรือผู้ให้บริการด้านสินเชื่อที่ถูกกฎหมาย ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ที่ เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย https://www.bot.or.th/app/BotLicenseCheck
ทั้งนี้ในการรับจ้างเปิดบัญชี หรือ ยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชี มีโทษทางกฎหมาย หากบัญชีถูกนำไปใช้ในทางทุจริต เพราะอาจจะเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งอัตราโทษสำหรับความผิดฐานฟอกเงินนั้น มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 10,000 -200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ