รวบแก๊งหลอกขายทุเรียนทิพย์ พบเงินหมุนเวียนกว่า 1 ล้านบาท

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) รวบแก๊งหลอกขายทุเรียนทิพย์ พบเงินหมุนเวียนกว่า 1 ล้านบาท

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ, พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท.,พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ปอท., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.2 บก.ปอท., พ.ต.ท.สัตตเมธ ใจแก้ว และ พ.ต.ท.ธนะ ว่องทรง รอง ผกก.2 บก.ปอท.

เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.นิธิ ตรีสุวรรณ รอง ผกก.2 บก.ปอท. พ.ต.ต.ชัยเวง พาด้วง, พ.ต.ต.จักรพงษ์ รุ่งจำกัด, ว่าที่ พ.ต.ต.วชิรเชษฐ์ อัครธีระพงศ์, ว่าที่ พ.ต.ต.กมลภพ หาญเวช สว.กก.2 บก.ปอท., ว่าที่ พ.ต.ต.ศุภเดช ธนชัยศิริ สว.(สอบสวน) กก.2 บก.ปอท. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ป. และ กก.6 บก.ป.

ได้ร่วมกันจับกุมตัวผู้ต้องหา จำนวน 4 ราย ดังนี้  

1. นางปวีรา (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี บุคคลตามหมายจับ ศาลอาญา ที่ 3656/2566 ลง 26 ต.ค.66

2. นางเสาวลักษณ์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 56 ปี บุคคลตามหมายจับ ศาลอาญา ที่ 3657/2566 ลง 26 ต.ค.66

3. นายกุลพล (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 27 ปี บุคคลตามหมายจับ ศาลอาญาที่ 3712/2566 ลง 30 ต.ค. 66

4. นายปุริม (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี บุคคลตามหมายจับ ศาลอาญาที่ 3734/2566 ลง 31 ต.ค. 66

ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, โดยทุจริต หรือ โดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, เปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้องโดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือความผิดทางอาญาอื่นใด และโอน หรือรับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้นหรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อน ขณะ หรือหลังการกระทำความผิดมิให้ต้องโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน”

พฤติการณ์ สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายจำนวนมากรวมตัวกันเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าถูกมิจฉาชีพหลอกให้ซื้อทุเรียนผ่านเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ “ทุเรียนสวนลุงแดง” แต่หลังจากโอนเงินไปแล้วกลับไม่ได้รับทุเรียน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ากรณีดังกล่าวมีผู้เสียหายกว่าร้อยราย  

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กก.2 บก.ปอท. ได้ทำการสืบสวนจนพบว่า กลุ่มคนร้ายได้ร่วมกันใช้เพจเฟซบุ๊ก ชื่อ “ทุเรียนสวนลุงแดง” มีผู้ติดตามจำนวนเกือบ 20,000 ราย มาหลอกขายทุเรียนทิพย์ โดยจะนำรูปภาพทุเรียน มาโพสต์ขายในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด และในบางครั้งก็มีการสร้างแรงจูงใจด้วยการจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม จากการสืบสวนพบว่าคนร้าย มีการจ้างให้คนมาคอมเมนต์ และรีวิว เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเพจ จนทำให้ประชาชนหลงเชื่อ ติดต่อซื้อทุเรียนทิพย์ พร้อมทั้งโอนเงินให้กับกลุ่มมิจฉาชีพกลุ่มนี้ ก่อนจะไม่สามารถติดต่อได้อีก เบื้องต้นภายใน 1 สัปดาห์ พบความเสียหายมูลค่ากว่า 1,000,000 บาท และผู้เสียหายกว่า 500 คน

จากการสืบสวนเบื้องต้น พบว่า กลุ่มคนร้ายได้สร้างเพจเพื่อหลอกขายสินค้าต่างๆ จำนวน 4 เพจ  ได้แก่

1. เพจชื่อ “ทุเรียนสวนลุงแดง” ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่าเกือบ 20,000 ราย (https://www.facebook.com/profile.php?id=100064903637670),

2. เพจชื่อ “ทุเรียนพรีเมียม เมืองจันทร์” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 14,000 ราย (https://www.facebook.com/profile.php?id=100094298059696),

3. เพจชื่อ “แม่เพ็ญอาหารทะเลสด” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 23,000 ราย (https://www.facebook.com/profile.php?id=100092422271436)

4. เพจชื่อ “คุณชาย หมูกรอบ” ซึ่งมีผู้ติดตามเกือบ 10,000 ราย และมีชื่อเพจตรงกับเพจของดาราหนุ่มชื่อดัง (อาร์ต พศุตม์ บานแย้ม) (https://www.facebook.com/profile.php?id=100095322322513)

ต่อมา เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 66 ถึงวันที่ 1 พ.ย. 66 เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางได้บูรณาการกำลังร่วมกัน โดยมี กก.2 บก.ปอท., กก.5 บก.ป. และ กก.6 บก.ป. ร่วมกันตรวจค้น 5 จุด ในพื้นที่จังหวัดสงขลาและสุราษฎร์ธานี จนสามารถจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 4 รายข้างต้น พร้อมตรวจยึดของกลาง ดังนี้

1. เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ, โน๊ตบุ๊ค,  โทรศัพท์มือถือ, Ipad ซึ่งใช้ในการบริหารจัดการเพจ และใช้สนทนาหลอกลวงผู้เสียหาย จำนวนหลายรายการ

2. สมุดบัญชีธนาคาร(บัญชีม้า) ที่คนร้ายใช้รับเงิน และซิมโทรศัพท์ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการกระทำความผิด

3. รถยนต์ จำนวน 3 คัน

4. เงินสด มูลค่ากว่า 300,000 บาท พร้อมสร้อยคอทองคำ

สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ผู้ต้องหาบางราย ให้การรับว่า ตนพร้อมพวกได้ร่วมกันซื้อเฟซบุ๊กและเพจเฟซบุ๊ก เพื่อนำมาสร้างเพจหลอกขายสินค้า โดยเลือกขายสินค้าที่เป็นที่นิยมในท้องตลาด ณ ขณะนั้น โดยตั้งราคาที่ดึงดูดความสนใจผู้เสียหาย ผู้ต้องหายังรับว่ามีการจ้างผู้อื่น ให้กดไลค์กดติดตาม พร้อมคอมเมนต์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของเพจ และซื้อตัวช่วยการประกาศโฆษณา (ยิงแอด) ทำให้ประชาชนที่พบเห็นหลงเชื่อ และถูกหลอกลวงในที่สุด โดยกลุ่มคนร้ายมีการแบ่งหน้าที่กันทำ แบ่งเป็นหน้าที่ซื้อบัญชีธนาคารม้าพร้อมซิมโทรศัพท์, ซื้อเพจเฟซบุ๊ก, บริหารจัดการเฟซบุ๊ก, สนทนากับผู้เสียหาย, ถอนเงินจากบัญชีธนาคารม้า ซึ่งคนร้ายกลุ่มดังกล่าวมีการถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มหลายท้องที่ มีการเปลี่ยนยานพาหนะที่ใช้ถอนเงิน เพื่อให้ยากต่อการสืบสวนจับกุม

ตำรวจสอบสวนกลาง CIB ฝากเตือนไปยังพี่น้องประชาชน โปรดใช้ความระมัดระวังในการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านสื่อออนไลน์ ถ้าหากมีความจำเป็น ให้ทำการตรวจสอบเบื้องต้นก่อนว่า เว็บไซต์ หรือ เพจเฟซบุ๊ก น่าเชื่อถือหรือไม่ โดยนำชื่อเว็บไซต์, ชื่อเพจ, ชื่อบัญชีรับโอน หรือ หมายเลขบัญชีรับโอน ไปตรวจสอบเบื้องต้นกับเว็บไซต์ “Google” ก่อนการทำธุรกรรมทางการเงินทุกครั้ง เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงดังกล่าว โดยในปัจจุบันจะดูจากยอดกดไลฟ์เพจ หรือ ผู้ติดตามไม่ได้แล้ว โดยคนร้ายจะใช้วิธีการปั๊มไลก์, ปั๊มแชร์ เพื่อให้เว็บไซต์หรือเพจ ดูมีความน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น หรือให้สังเกตจากการตั้งราคาสินค้าซึ่งมีราคาถูกกว่าท้องตลาด อีกทั้งตั้งโปรโมชั่น 1 แถม 1 เพื่อหลอกล่อเพิ่มความสนใจ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพวกมิจฉาชีพแน่นอน

และหากผู้เสียหายท่านใด ที่ได้รับความเสียหายจากการหลอกลวงตามเพจข้างต้น หรือถูกหลอกลวงจากเพจหลอกขายสินค้า หรือบริการในลักษณะเดียวกัน สามารถรวบรวมพยานหลักฐานเข้าแจ้งความออนไลน์ ได้ที่เว็บไซต์ https://thaipoliceonline.com/ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ