วันที่ 23-24 ต.ค.66 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. และ ผอ.ศพดส.ตร. ร่วมกับ ดร.แองเจลา แมคโดนัลด์ เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย และ คุณเฮเลน ชไนเดอร์ ผู้บังคับการศูนย์ป้องกันปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศเด็กและการแสวงหาประโยชน์จากเด็กของสำนักงานตำรวจเครือรัฐออสเตรเลีย ให้การต้อนรับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ NGOs จาก 9 ประเทศ ได้แก่ประเทศไทย ออสเตรเลีย กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ที่เดินทางมาร่วมประชุมหารือระดับภูมิภาคเพื่อต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก หรือ CSERD 2023 (Countering Child Sexual Exploitation Regional Dialogue) ณ โรงแรมทราย ลากูน่า จ.ภูเก็ต ซึ่งจะมีการประชุมระหว่างวันที่ 23-27 ต.ค.66
โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ รอง ผบ.ตร. กล่าวในที่ประชุมว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศ การทำงานข้ามพรมแดน เสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคในการต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก หรือการแสวงหาประโยชน์จากเด็กในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานตำรวจเครือรัฐออสเตรเลีย (AFP) และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อร่วมมือและเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มุ่งพัฒนาศักยภาพในระดับภูมิภาคเพื่อต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศเด็กให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ รอง ผบ.ตร. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีความร่วมมือกับ สำนักงานตำรวจเครือรัฐออสเตรเลีย (AFP) ในด้านต่างๆ เป็นอย่างดียิ่งมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการ Taskforce Storm, การจัดตั้งเครือข่ายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อประสานงานระหว่างหน่วยงาน โดยดำเนินการผ่านระบบบริหารจัดการข้อมูลคดีและข่าวกรอง (Case Management and Intelligence System – CMIS) ,การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย (Thai Centre of Excellence to counter TIP) และการสนับสนุนหลักสูตรการฝึกอบรมด้านสกุลเงินดิจิทัลและนิติวิทยาศาสตร์ดิจิทัล การเจรจา และการสอบสวน โดยสนับสนุนบุคคลากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเดินทางไปอบรมที่ประเทศออสเตรเลีย หรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้คือ การให้ความร่วมมือและสนับสนุนประเทศไทย ในการจัดประชุมเฟิร์สไทยแลนด์ อินเตอร์เนชันแนล ไดอะลอก (1st Thailand International Dialogue) เพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในภูมิภาคอาเซียน
สำหรับการแก้ปัญหาการต่อต้านการล่วงละเมิดเด็กในประเทศไทย ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการล่วงละเมิดเด็กเป็นอย่างมาก โดยได้จัดตั้ง ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์ขับเคลื่อน และควบคุมการปฏิบัติการดำเนินการแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดเด็กอย่างจริงจัง โดยเน้นการทำงาน 3 ส่วนหลัก คือ การปราบปราม, การป้องกัน และการพัฒนาบุคลากร
ในส่วนการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีสถิติผลการจับกุม ปราบปรามการล่วงละเมิดเด็ก 9 เดือนแรก ของปี พ.ศ.2566 จำนวน 411 คดี เฉลี่ย 45 คดีต่อเดือน ในปี พ.ศ.2565 จำนวน 482 คดี เฉลี่ย 40 คดีต่อเดือน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 คดีต่อเดือน คิดเป็น 11.25 เปอร์เซนต์ โดยข้อหาที่มีผลการจับกุมสูงสุด คือ การครอบครองสื่อลามกเด็ก จำนวน 164 คดี รองลงคือ การล่วงละเมิดทางเพศ จำนวน 154 คดี และเป็นคดีค้ามนุษย์ ถึง 75 คดี คิดเป็น 18 เปอร์เซนต์ ซึ่งถือเป็นจำนวนการขยายผลไปสู่ความผิดฐานค้ามนุษย์ได้สูงที่สุดในรอบ 9 ปี และข้อมูลเบาะแสจาก Cybertipline Report 9 เดือนแรกของปี 2566 จำนวน 297,432 CT เฉลี่ย 33,048 CT ต่อเดือน ในปี พ.ศ.2565 จำนวน 523,159 CT เฉลี่ย 43,596 CT/เดือน ลดลงเฉลี่ย 10,488 CT ต่อเดือน คิดเป็น 24 เปอร์เซนต์ เป็นผลมาจากการเจ้าหน้าที่มีความชำนาญมากขึ้นและปราบปรามจริงจังเด็ดขาด
ในส่วนการป้องกัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 ได้จัดทำโครงการ D.A.R.E 2 C.A.R.E. ซึ่งเป็นโครงการให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนในสถานศึกษาและในปี 2566 ได้มีการขยายไปสู่ผู้ปกครองและชุมชน เพื่อให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการป้องกันบุตรหลานถูกล่วงละเมิดอีกส่วนนึง นอกจากนี้ยังได้ทำโครงการ Child Safe Friend Tourism Project เป็นโครงการที่อบรมบุคลากรการท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ เพื่อช่วยกันสอดส่องดูแลเด็กและเยาวชนในสถานที่ที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด และในส่วนการพัฒนาบุคลากร ได้ดำเนินการจัดการฝึกอบรมด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพและความชำนาญให้กับผู้ปฏิบัติ เช่น อบรมกระบวนการ NRM, อบรมการใช้เครื่องมือพิเศษ เช่น Cellebrite ในการทำ Digital Forensic รวมทั้งการกระจายอำนาจ โดยการจัดตั้งศูนย์ TICAC ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ
การดำเนินการทั้งหมดนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ให้ความสำคัญในเรื่องการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยตลอด โดยเฉพาะการป้องกันปราบปรามการล่วงละเมิดเด็ก โดยได้บูรณาการปฏิบัติกับทุกภาคส่วนในทุกมิติ ทั้งในประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับสากล เพื่อขจัดปัญหาการล่วงละเมิดเด็ก อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับไปสู่ Tier1 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี