เมื่อเวลา 19.10 น. วันที่ 15 ตุลาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สำโรงเหนือ จังหวัดสมุทรปราการ ได้รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ที่เก็บของ ตลาดนัดสังกะสี ตำบลเทพารักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ หลังรับแจ้งเหตุจึงประสาน รถดับเพลิงจากเทศบาลเทพารักษ์ และใกล้เคียง กว่า 10 คัน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง เดินทางตรวจสอบที่เกิดเหตุ
ที่เกิดเหตุอยู่บริเวณด้านข้าง ของ ตลาดนัดสังกะสี ซึ่งเป็น จุดเก็บของ ลักษณะเป็นเพิงชั้นเดียว ปลูกติดกันจำนวนหลายคูหา เจ้าหน้าที่ พบ แสงเพลิงและกลุ่มควันจำนวนมาก โดยเพลิงกำลังโหมลุกไหม้บริเวณดังกล่าวอย่างรุนแรง สลับกับเสียงระเบิดของถังก๊าชหุงต้มเป็นระยะ เจ้าหน้าที่ต้องระดมฉีดน้ำสกัดเพลิงที่ลุกไหม้ไม่ให้ลุกลามห้องข้างเคียง แต่การควบคุมเพลิงก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากในขณะเกิดเหตุมี ลมกรรโชกแรง และ มีการระเบิดของถังก๊าซหุงต้มเป็นระยะ ซึ่งกว่าจะควบคุมเพลิงไว้ได้ต้องใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง เพลิงจึงสงบ โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบ เพลิงลุกไหม้ เพิงเก็บของ เสียหาย ประมาณ 6 ห้อง รถยนต์ อีก 2 คัน และ ทรัพย์สินอื่นๆ
จากการสอบถาม นายธนสิทธิ์ วงษ์แก้วบุญเรือน สท.เทศบาลตำบลเทพารักษ์ เล่าว่า ตอนแรกที่ได้รับแจ้งนั้นก็พบว่าเพลิงไหม้มาแล้ว 3-4 ห้อง ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วมาก โดยบริเวณที่เกิดเหตุเพลิงไหม้นั้น เป็นที่เก็บของ ร้านขายของ และ มีที่พักด้วย โดยเพลิงเริ่มมาจากด้านข้างก่อนที่จะลุกลาม ซึ่งตนเองมาก็พบว่าเพลิงไหม้หลายห้องแล้ว
ด้าน นายมินทดา อายุ 48 ปี พ่อค้าขายของเก่า เล่าว่า ตนเองไม่ทราบสาเหตุของเพลิงไหม้ เนื่องจาก ข้อมูลยังสับสนว่าเกิดจากอะไรกันแน่ ซึ่งแต่ละคนก็บอกไม่เหมือนกัน โดยห้องที่ตนเองเช่าไว้เก็บของนั้นถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหมด ซึ่งเป็นของเก่า จำพวก ไม้สัก และ ของเก่า โดยที่เมื่อวานตนเองพึ่ง ซื้อของเข้าที่ร้านไป เป็นจำนวนเงินกว่า 20,000 บาท โดยเสียหายในครั้งนี้ตนเองประเมินต่ำ ๆ ไว้ที่ 70,000 บาท โดยตอนเกิดเหตุตนเองนอนอยู่ที่บ้าน ซึ่งวันนี้ไม่ได้มาเปิดร้าน
ส่วน เจ้าหน้าที่ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เผยว่า ตนเองโบกรถอยู่ใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุ ขณะหันมาก็พบกลุ่มควันบริเวณใต้ทางด่วน จึงวิ่งไปดูก็พบว่าเพลิงลุกไหม้เยอะแล้ว ตนเองจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงให้เข้ามาระงับเหตุ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ปากคำเกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ ส่วนสาเหตุของการเกิดเหตุไหม้ ต้องรอเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานลงพื้นที่จุดเกิดเหตุ เพื่อหาสาเหตุอีกครั้ง