ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) รวบแก๊งหลอกกู้เงินออนไลน์พบภายใน 1 ปี เงินหมุนเวียนในระบบกว่า 160 ล้านบาท

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.พัฒนา ฉายาวัฒน์ รอง ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.เมฆพิศาล ศรีภิรมย์ ผกก.๕ บก.ปอศ.,พ.ต.ท.วีระชน หล่าสกุล, พ.ต.ท.วิวัฒน์ชัย คลื่นแก้ว, พ.ต.ท.กริช วรทัต และ พ.ต.ท.ภูวเดช จุลกะเสวี รอง ผกก.5 บก.ปอศ. เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ต.วรวุฒิ คงรักษา สว.กก.5 บก.ปอศ. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ปอศ.

ร่วมกันจับกุม
1.น.ส.ณัฐสิมาฯ อายุ 21 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 2837/2566 ลงวันที่ 1 ก.ย.2566
2.นายกวินท์ฯ อายุ 29 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 2838/2566 ลงวันที่ 1 ก.ย.2566
3.นายจิรัฏฐ์ฯ อายุ 32 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 2840/2566 ลงวันที่ 1 ก.ย.2566

โดยกล่าวหากระทำผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าในระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”สถานที่จับกุม ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย, พะเยา , ลำปาง วันที่จับกุม ช่วงวันที่ 2 – 4 กันยายน 2566

พฤติการณ์ สืบเนื่องจาก เมื่อประมาณช่วงต้นปี 2565 ได้มีผู้เสียหายจำนวน 4 ราย เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปอศ. ด้วยเหตุถูกกลุ่มผู้กระทำผิดแอบอ้างตนเองโดยการเปิดเพจเฟซบุ๊กสาธารณะชื่อ “สินเชื่อเงินกู้ด่วน1”โฆษณาชักชวนให้กู้เงินผ่านเพจเฟซบุ๊ก โดยอ้างว่า สามารถปล่อยสินเชื่อเชื่อส่วนโดยไม่เช็คเครดิต กู้ได้ทุกอาชีพ รับเงินจริง เชื่อถือได้ ดอกเบี้ยต่ำ โดยมีลูกเพจหลายรายเข้าคอมเม้นสนับสนุนว่าสามารถกู้ได้จริงเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ เมื่อประชาชนหลงเชื่อจะให้ติดต่อทางแอปพลิเคชันไลน์ จากนั้นคนร้ายจะให้แจ้งชื่อ-นามสกุล,เบอร์โทรศัพท์,สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน,อาชีพ,เงินเดือนปัจจุบัน และหมายเลขบัญชีธนาคารเพื่อรับเงิน พร้อมวงเงินที่จะทำการกู้ เพื่อลงทะเบียนขอกู้เงิน ต่อมาคนร้ายจะหลอกลวงให้ประชาชนโอนเงินให้ ซึ่งอ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียมในการปล่อยเงินกู้ ,ค่าธรรมเนียมเอกสาร ซึ่งคิดเป็น ร้อยละ 10 ของยอดเงินกู้ เช่นกู้ 50,000 บาท จะต้องโอนไป 5,000 บาท เมื่อประชาชนหลงเชื่อโอนไป คนร้ายแจ้งขั้นตอนต่อไปว่าได้ทำการอนุมัติสินเชื่อแล้ว แต่จะต้องโอนเงินมาให้อีกเพื่อเป็นค่าปลดล็อกยอดกู้ และค่ามัดจำ และจะหลอกต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ โดยอ้างเหตุผลต่างๆเพื่อให้ประชาชนโอนเงินให้เพิ่ม แต่ท้ายที่สุดกลับไม่ได้รับโอนเงินกู้จริงแต่อย่างใด เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเสียหาย ผกก.5 บก.ปอศ. จึงสั่งการให้ดำเนินการสืบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

จากการสืบสวนพบว่า คนร้ายใช้บัญชีในการกระทำผิดจำนวน 8 บัญชี โดยแบ่งหน้าที่เป็น บัญชีที่ใช้รับโอนเงินจากผู้เสียหาย , บัญชีที่ใช้โอนเงินเป็นทอดๆ และบัญชีที่ใช้รับผลประโยชน์โดยถอนเงินออกและนำไปใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งภายในระยะเวลา 1 ปี มียอดเงินหมุนเวียนกว่า 160 ล้านบาท จากการสืบสวนพบว่าบัญชีที่รับผลประโยชน์สุดท้ายนั้นเป็นบัญชีของชาวต่างชาติ ซึ่งมีการตระเวนกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มบริเวณแนวตะเข็บชายแดนไทย- พม่า จำนวนหลายครั้ง ยอดรวมกว่า 10 ล้านบาท อีกทั้งยังมีการโอนเงินไปซื้อสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกกว่าหลายรายการ

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนสอบสวนจนสามารถพิสูจน์ทราบว่ามีผู้ร่วมกระทำความผิด จำนวน 9 ราย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ขออนุมัติหมายจับจากศาลอาญาในความผิดฐาน“ร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าในระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”

ต่อมาในวันที่ 2 และวันที่ 4 ก.ย. 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้เข้าทำการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้จำนวน 3 ราย โดยสามารถจับกุมได้ในพื้นที่ จ.ลำปาง ,จ.พะเยา และ จ.เชียงราย ส่วนผู้ต้องหาที่เหลืออีก 6 ราย จากการสืบสวนพบข้อมูลว่า ได้หลบหนีไปกบดานอยู่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อนำตัวกลับมาดำเนินคดีต่อไป

สุดท้ายนี้ ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงประชาชนที่ต้องการกู้ยืมเงิน ควรกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินทุนที่ถูกต้องตามกฎหมาย และอย่าหลงเชื่อโอนเงินไปให้ผู้ใดเพื่อเป็นค่าธรรมเนียมในการกู้ยืมเงินก่อนเป็นเด็ดขาด ทั้งนี้สามารถตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อภายใต้กำกับ ได้ที่ช่องทาง ดังนี้
ธนาคารแห่งประเทศไทย เว็บไซต์ https://app.bot.or.th/BotLicenseCheck
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เว็บไซต์ http://www.1359.go.th/picodoc/comp.php