วันนี้ (23 ส.ค.66) เวลา 14.30 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้ร่วมเป็นวิทยากรในการอภิปรายในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี พ.ศ.2566 ซึ่งจัดขึ้นที่ โรงแรมเซนทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 23-24 ส.ค.66 จัดขึ้นโดย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยในปีนี้ได้มีการจัดการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใน 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ การขับเคลื่อนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2566, การผลักดันการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากร และอนาคตกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งในวันนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้มีการแก้ไขระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการจัดเก็บทะเบียนประวัติอาชญากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในหัวข้อดังกล่าวด้วย
ในการอภิปรายนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้นำเสนอเกี่ยวกับการดำเนินการตามโครงการ “ลบประวัติล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งโครงการดังกล่าวเกิดจากการที่มีพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาเกี่ยวกับระบบการจัดเก็บประวัติอาชญากร และการถอนชื่อออกจากทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งเมื่อบุคคลใดมีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลดังกล่าวแล้ว ก็จะส่งผลกระทบต่อการพิจารณาเข้าทำงานต่างๆ ขาดโอกาสในการกลับไปใช้ชีวิตโดยปกติสุขได้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ ในครั้งที่ยังดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ในขณะนั้น ให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ ได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวที่สร้างผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในวงกว้าง เนื่องจากตรวจสอบพบว่า มีรายการทะเบียนประวัติที่ไม่มีการรายงานผลคดีถึงที่สุดคงค้างอยู่มากถึง 13 ล้านรายการ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ จึงได้เร่งแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการตรวจสอบผลคดีของรายการคงค้างทั้งหมดจนเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาเพียง 1 ปีเศษ ต่อมาในปี พ.ศ.2565 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ พิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทะเบียนประวัติ ร่วมกับกองทะเบียนประวัติอาชญากร และศูนย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนได้สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้
ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 เม.ย.66 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประกาศ ระเบียบ ตร.ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ.2566 เพื่อแก้ไขการจัดเก็บประวัติแบบใหม่ โดยแบ่งฐานข้อมูลออกเป็น 3 ทะเบียน ได้แก่ ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา (ผู้ต้องหาคดีอาญาแต่คดียังไม่ถึงที่สุด), ทะเบียนประวัติผู้กระทำผิดที่มิใช่อาชญากร (ผู้ต้องหาที่มีคำพิพากษาจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือรอลงการโทษ) และทะเบียนประวัติอาชญากร (ผู้ต้องหาที่มีคำพิพากษาจำคุกเกินกว่า 1 เดือน แต่มิใช่คดีประมาท) ซึ่งฐานข้อมูลที่ใช้ในการตรวจสอบยืนยันประวัติทั่วไป จะถูกใช้แค่ทะเบียนประวัติอาชญากรเท่านั้น ในส่วนอื่นจะไม่มีการเปิดเผยโดยทั่วไปแต่อย่างใด จากการปรับปรุงแก้ไขระเบียบดังกล่าว ทำให้พี่น้องประชาชนไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรตามหลักเกณฑ์มากถึง 9.3 ล้านราย ซึ่งทำให้พี่น้องประชาชนในกลุ่มดังกล่าว สามารถกลับไปใช้ชีวิตและเข้าสมัครงานได้ตามปกติต่อไป
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับทราบถึงปัญหาของพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากระบบการจัดเก็บทะเบียนประวัติอาชญากรแบบเดิม ทำให้เสียโอกาสในการใช้ชีวิตโดยปกติสุขเป็นจำนวนมาก จึงได้เร่งผลักดันในการปรับปรุงฐานข้อมูลของทะเบียนประวัติที่ขาดการรายงานผลคดีถึงที่สุดจำนวนถึง 13 ล้านรายการให้เป็นปัจจุบันภายในระยะเวลาเพียง 1 ปีเศษ รวมทั้งได้แก้ไขระเบียบการจัดเก็บลายนิ้วมือผู้ต้องหาใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมและพี่น้องประชาชนส่วนรวมให้ได้มากที่สุด โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญไทย รู้สึกภูมิใจที่มีพี่น้องจำนวนมากถึง 9.3 ล้านรายที่ได้รับประโยชน์จากหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งทำให้ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากร ตามโครงการลบประวัติล้างความผิดคืนชีวิตให้กับประชาชน จากนี้จะมีการพิจารณาจัดทำช่องทางเว็บไซต์ที่ทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบคุณสมบัติและประวัติอาชญากรเบื้องต้นได้ต่อไป