จับเภสัชเถื่อน 13 ราย ลักลอบขายยาแก้ไอให้วัยรุ่นผสมน้ำกระท่อมดื่ม

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ  ภูริเดช ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก. ปคบ. โดยการ สั่งการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์  รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ  นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., ว่าที่ พ.ต.อ.สุพจน์  พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ., นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก. วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และภก.ปรีชา  พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่ 2 ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงาน กรณีจับกุมกวาดล้างร้านขายยาที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระดมตรวจค้นร้านขายยาทั่วกรุงเทพมหานคร จับกุมผู้ต้องหาที่ไม่ใช่เภสัชกร 13 ราย พร้อมยึดของกลางที่เกี่ยวข้องกว่า 156 รายการ มูลค่าความเสียหายกว่า 1,400,000 บาท

พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับการร้องเรียนจากประชาชน และได้รับการประสานงานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ตรวจสอบร้านขายยาที่มีพฤติการณ์ใช้พนักงานขายยาที่ไม่ใช่เภสัชกร ขายยาแก้แพ้ ยาแก้ไอ ยาแคปซูลเขียวเหลืองให้กลุ่มวัยรุ่นเพื่อเป็นส่วนผสมยาเสพติดชนิด 4×100 อีกทั้งสภาเภสัชกรรมได้เคยประชุมหารือกับ กก.4 บก.ปคบ. และได้แถลงจุดยืนเน้นย้ำให้ร้านขายยาทุกร้านจะต้องมีเภสัชกรประจำโดยจะดำเนินการกับเภสัชกรแขวนป้าย จึงเป็นที่มาในการจัดระเบียบร้านขายยาในครั้งนี้

โดยในห้วงวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 – 9 สิงหาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เข้าตรวจสอบเครือข่ายร้านขายยาที่ทำผิดกฎหมายรายใหญ่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 14 จุด ได้แก่ 1.ร้านขายยาไทยฟาร์มาซี 5 สาขา, 2. ร้านคลินิกยา 4 สาขา, 3. ร้านพูนทรัพย์ฟาร์มาซี 2 สาขา, 4. ร้านขายยาพาดา เจริญเภสัช 2 สาขา และ 5. ร้านบ้านยาของขวัญ ตรวจยึดยาปลอม 572 ชิ้น, ยาไม่มีทะเบียน จำนวน 212 ชิ้น, ยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อม 24,722 ขวด, ยาเขียวเหลือง(ทรามาดอล) 4,150 แคปซูล และยาควบคุมพิเศษ จำนวน 21 กล่อง จับกุมผู้ต้องหาซึ่งไม่ใช่เภสัชกรและไม่มีความรู้ด้านเภสัชกรรม โดยผู้ต้องหา จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 3 ราย, มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 2 ราย และปริญญาตรี จำนวน 8 ราย รวมทั้งสิ้น 13 ราย ดำเนินคดีข้อหา “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯ โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต”โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับว่า รับจ้างเป็นพนักงานขายยาภายในร้านขายยาซึ่งอยู่ประจำร้านทุกวัน และจะมีเภสัชกรเข้ามาดูแลร้านเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000-18,000 บาท

จากการสืบสวนขยายผลพบว่า ร้านขายยาดังกล่าวข้างต้นมีรูปแบบการกระทำความผิดในลักษณะที่เจ้าของผู้ดำเนินกิจการรายเดียว ยื่นขออนุญาตเปิดร้านขายยาหลายแห่ง เพื่อจะได้รับโควต้าในการซื้อยาแก้แพ้ ยาแก้ไอในปริมาณมาก ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวมีเจ้าของประกอบด้วย น.ส.อุมาพร (สงวนนามสกุล) จำนวน 8 ร้าน, น.ส.วนิดา (สงวนนามสกุล) จำนวน 3 ร้าน, นายพัทธนนท์ (สงวนนามสกุล) จำนวน 2 ร้าน และ น.ส.นวรัตน์ จำนวน 1 ร้าน โดยสถานที่ตั้งร้าน จะเลือกทำเลอยู่ในแหล่งชุมชนหรืออพาร์ทเม้นท์ ซึ่งมีกลุ่มวัยรุ่นพักอาศัยอยู่มาก ทำให้สะดวกต่อการซื้อ ซึ่งร้านขายยาในชุมชน มีเจตนารมณ์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาโรคและยาได้ง่ายขึ้น แต่ปัจจุบัน บรรดาผู้ประกอบการที่คิดแสวงหากำไรอาศัยช่องว่างทางกฎหมายโดยการขายยาบางประเภทผิดจากวัตถุประสงค์ โดยมุ่งเน้นจำหน่ายเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นเพื่อนำมาผสมกับน้ำกระท่อมดื่มเพื่อความมึนเมาและเสพติดเป็นจำนวนมาก

กรณีผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินกิจการร้านขายยา(เจ้าของร้านขายยา) ที่ขออนุญาตเปิดร้านขายยาที่มียาปลอมและยาไม่มีทะเบียน โดยมีพฤติการณ์ขายยาแก้แพ้ แก้ไอและยาเขียวเหลืองให้กับเยาวชน เบื้องต้นมีความผิดฐาน “ไม่จัดทำบัญชียาที่ซื้อและขายตามที่กำหนดฯ, ขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่, ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา และขายยาปลอม” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะได้เสนอคณะกรรมการยาพักใช้ใบอนุญาตต่อไป

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม

1.พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 ฐาน “เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.ความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 สำหรับผู้รับอนุญาต

2.1 ฐาน “ไม่จัดทำบัญชียาที่ซื้อและขายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” ระวางโทษปรับ 2,000-10,000 บาท

2.2 ฐาน “ขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่” ระวางโทษปรับ 1,000-5,000 บาท

2.3 ฐาน “ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.4 ในชั้นสอบสวน หากพบว่าเป็นยาปลอมจะมีความผิด ฐาน “ขายยาปลอม” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่    1-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท

สำหรับผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ(เภสัชกร) มีความผิดฐาน “ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาทำการ รวมถึงไม่ควบคุมการขายยา ควบคุมการส่งมอบยา อันตราย และควบคุมการทำบัญชีซื้อและขายยาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” ระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท

พ.ต.อ.ชัฏฐ  นากแก้ว รอง ผบก.ปคบ. กล่าวว่าจากการตรวจสอบในครั้งนี้พบ ยาไม่มีทะเบียน และยาปลอม ซึ่งทางตำรวจเฝ้าระวังและจะขยายผล ถึงต้นตอของยาไม่มีทะเบียน และยาปลอมที่ตรวจพบในร้านขายยา ต่อไป ทั้งนี้ขอความร่วมมือร้านขายยาทั้งหลายให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และร้านที่ไม่ได้รับอนุญาตจะดำเนินการกวาดล้างต่อไป และฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าว่ายาคือหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่ใช้เพื่อรักษาโรคหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้อย่างถูกวิธีและได้รับคำแนะนำในการใช้อย่างละเอียด จากผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม โดยเฉพาะยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษซึ่งจะต้องใช้อย่างระมัดระวังตามใบสั่งของแพทย์ เท่านั้น หากพี่น้องประชาชนพบเห็นร้านขายยาใดมีพฤติกรรมในการใช้พนักงานขายยาที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใดสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา

ภก. วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวน ขยายผล ตรวจสอบเครือข่ายร้านขายยากลุ่มเสี่ยง ที่มีพฤติการณ์ขายยาแก้แพ้ แก้ไอ และยาแก้ปวดทรามาดอลให้แก่กลุ่มเยาวชนจนสามารถตรวจยึดยาจำนวนมาก

ปัจจุบัน อย. มีมาตรการกำกับดูแลการจำหน่ายยากลุ่มเสี่ยงตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่การผลิต/นำเข้า การขายให้ร้านขายยา ตลอดจนการจ่ายยาให้ผู้ป่วย กรณีตรวจพบการซื้อขายยาในทางที่ผิด นอกจากจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ยังถูกพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 120 วัน หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตด้วย ตั้งแต่ปี 2561 – ปัจจุบัน มีร้านขายยาที่ถูกพักใช้ใบอนุญาตไปแล้วกว่า 78 ร้าน, โรงงานผลิตยาถูกพักใช้ใบอนุญาต 2 แห่ง และบริษัทขายส่งยาถูกเพิกถอนใบอนุญาต 1 แห่ง สำหรับเภสัชกรที่ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาทำการ หรือไม่ควบคุมการจัดทำบัญชีซื้อและขายยาโดยเฉพาะยาอันตรายกลุ่มเสี่ยง อย. จะดำเนินคดีตามกฎหมายและส่งเรื่องให้สภาเภสัชกรรมพิจารณาจรรยาบรรณต่อไป ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบร้านขายยาที่มีพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: [email protected], Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่ 2 กล่าวว่า ปัจจุบันยังพบว่ามีการจับกุมร้านขายยาที่ลักลอบขายยาแก้ไอ, ยาทรามาดอลให้กับเยาวชนเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เอาไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อการเสพติด และผู้ขายยาก็ไม่ใช่เป็นผู้มีความรู้เรื่องยาโดยตรง ซึ่งก็จะมีความผิดทั้งใน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 คือขายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ แม้อาจจะมีเพียงโทษปรับก็ตาม แต่ลักษณะการขายยาดังกล่าว จะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 ด้วย คือ ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (การขายยา) โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจะมีโทษสูง ปรับ 30,000 บาท หรือจำคุก 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้ที่แอบจ่ายยาโดยไม่ใช่เภสัชกร จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องนี้ และกรณีนี้เภสัชกรที่เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านต่างๆเหล่านี้ หากไม่ได้อยู่ปฏิบัติการตลอดเวลาที่เปิดทำการ แม้จะไม่ได้เป็นผู้ขายยากลุ่มเสี่ยงดังกล่าวด้วยตัวเอง แต่เภสัชกรในฐานะผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการได้มีการควบคุมกำกับเกี่ยวกับการขายยา

การส่งมอบยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หรือมีการปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลไม่ให้มีการขายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่หรือไม่อย่างไร หรืออาจเข้าข่ายการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยผิดกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นความผิดทางจรรยาบรรณได้ โดยมีโทษพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม เป็นระยะเวลา 2 ปี ดังนั้นจึงขอให้เภสัชกรที่ไม่ได้อยู่ประจำตลอดเวลาต้องระมัดระวัง และสอดส่องกำกับดูแลให้มีการขายยาให้ถูกต้องตามที่ พรบ.ยา พ.ศ.2510 กำหนด เพื่อความปลอดภัยของประชาชน เพื่อความปลอดภัยจากการใช้ยา แนะนำให้ประชาชน เลือกเข้าร้านยาที่มีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ อย่าปรึกษาเรื่องยา หรือซื้อยากับ บุคคลที่ไม่ใช่เภสัชกร

เภสัชกรในร้านยาจะใส่ชุดสีขาว มีตรา สภาเภสัชกรรม   ประชาชน สามารถ Load Application ร้านยาของฉัน ใน  Play store หรือ App store  เพื่อดูว่า ร้านยาใกล้บ้านฉันอยู่ที่ไหน และร้านยาใด มีเภสัชกร พร้อมให้บริการ ให้เลือกเข้าร้านยาที่มีเภสัชกรเป็นผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำยา เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตของท่าน