ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) บุกทลายโกดังย่านลาดกระบัง จำหน่ายของเล่นเด็กไม่มีเครื่องหมาย มอก.
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., และ พ.ต.อ.วริษฐ์ ปทุมารักษ์ ผกก.3 บก.ปคบ. เจ้าหน้าที่ตรวจค้น สั่งการให้ พ.ต.ท.อภิเดช อธิคมสัญญา สว.กก.3 บก.ปคบ. พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ กก.3 บก.ปคบ.
สถานที่ตรวจค้น คลังสินค้า ย่านลาดกระบัง กทม. ตรวจยึดของกลาง ของเล่นตุ๊กตา,ของเล่นประเภทไม้ พลาสติก สิ่งทอ กระดาษ และสีเทียน มากกว่า 40,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 4,000,000 บาท พฤติการณ์ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปคบ.ได้ร่วมกันสืบสวนหาข่าวข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่นำเข้า เก็บ/จำหน่าย สินค้าประเภทต่างๆ ที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 (ไม่มีเครื่องหมาย มอก.) จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปคบ.ได้นำหมายค้นของศาลอาญามีนบุรี ที่ ค 440/2566 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 เข้าทำการตรวจค้นคลังสินค้า ย่านลาดกระบัง กทม. ผลการตรวจค้นพบ ของเล่นตุ๊กตา,ของเล่นประเภทไม้ พลาสติก สิ่งทอ กระดาษ และสีเทียน ซึ่งไม่มีมาตรฐานรับรอง (ไม่มีเครื่องหมาย มอก.) อยู่ที่สินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ มากกว่า 40,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 4,000,000 บาท ซึ่งขณะนั้นเจ้าของสินค้าข้างต้นยังไม่สามารถนำเอกสารมาชี้แจงได้ จึงนัดหมายให้เจ้าของสินค้านำเอกสารที่ถูกต้องมาชี้แจง เมื่อถึงวันนัดหมาย เจ้าของสินค้ากลับไม่สามารถนำเอกสารมาชี้แจงได้ พนักงานสอบสวน กก.3
บก.ปคบ.จึงแจ้งข้อกล่าวหากับเจ้าของและบริษัทดังกล่าว ฐาน “มีไว้เพื่อจำหน่าย ซึ่งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีกฎกระทรวงกำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน โดยรู้อยู่ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำหรือนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย” ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 มาตรา 36 , มาตรา 55
สำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่นนั้น กฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่นต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ.2565 (เลขที่ มอก.685 เล่ม1-2562 ) และพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีเทียนต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ.2550(เลขที่ มอก.1149-2548) ซึ่งปัจจุบันของเล่นสำหรับเด็ก(ที่มีอายุต่ำกว่า14ปี) ที่ไม่มีมอก.อาจมีสารเคมีปนเปื้อน โดยเฉพาะของเล่นที่มีสีสันสะดุดตา ซึ่งอาจใช้สีที่ไม่ได้มาตรฐาน หากเด็กนำของเล่นเข้าปาก จะได้รับอันตรายจากสารตะกั่ว
โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจาก สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) แล้วว่ามีคุณภาพและได้มาตรฐานตามที่กำหนด มีความปลอดภัยในการใช้งาน โดยผู้ทำและผู้นำเข้าจะต้องได้รับการอนุญาตจากสมอ.ก่อนจึงจะสามารถทำหรือจัดจำหน่ายได้ โดยจะต้องมีเครื่องหมายมอก.รับรองรวมถึงมีการแสดงชื่อ ผู้ทำ ผู้นำเข้า อายุผู้เล่น คำเตือนที่ชัดเจน
ซึ่งหากไม่ได้มีการผลิตที่ได้มาตรฐานหรือนำเข้ามาอย่างถูกต้อง ผู้บริโภคที่นำผลิตภัณฑ์ฯไปให้บุตรหลานเล่นอาจเกิดอันตรายได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจบก.ปคบ.ได้เห็นความสำคัญต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จึงได้ดำเนินการจัดกำลังออกตรวจค้นปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเล่นที่ไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม จึงได้ทำการตรวจยึดและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เตือนภัย พ่อค้า-แม่ค้า ที่นำสินค้าดังกล่าวมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ให้หมั่นตรวจสอบสินค้าของตนเองว่าได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) หรือไม่ พร้อมฝากถึงผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าประเภทของเล่นเด็กและสีเทียน ควรเลือกซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมาย มอก. โดยสามารถตรวจสอบเบื้องต้นว่าผลิตภัณฑ์สินค้าที่ตนเองเลือกซื้อได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือไม่ สามารถดูได้จากการแสดงเครื่องหมาย มอก. พร้อมคิวอาร์โค้ด ที่ระบุอยู่ที่ตัวผลิตภัณฑ์หรือกล่องบรรจุภัณฑ์ และสามารถตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทใดบ้าง ที่ต้องได้รับอนุญาตให้มี มอก. ได้จากคู่มือผู้ซื้อภายในเว็ปไซต์ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) www.tisi.go.th และหากประชาชนผู้บริโภคพบเห็นหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับการนำเข้า ผลิต กักเก็บ หรือลักลอบจำหน่ายสินค้าไม่มีไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) สามารถแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลผ่านทางสายด่วน บก.ปคบ. หมายเลข 1135