ตร.ไซเบอร์ อายัดทรัพย์เครือข่ายฟอกเงิน คอลเซ็นเตอร์กว่า 90 ล้าน

ตร.ไซเบอ ร์แถลงยึดทรัพย์เครือข่ายฟอกเงินแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 90 ล้าน กลุ่มเป้าหมายที่อุดร ส่ง ปปง. ตรวจสอบแหล่งที่มา และ เร่งเครื่องกวาดล้างบัญชีม้า-ซิมม้า

วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ที่สถานีตำรวจทางหลวง 3 กองกำกับการ 4 จังหวัดอุดรธานี บ้านข้าวสาร ต.โนนสูง อ.เมือง อุดรธานี พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.ออมสิน ตรารุ่งเรือง รอง ผบช.สอท.พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผบก.สอท.4 พล.ต.ต.ณัฐพร ประภายนต์ ผบก.สอท.2 พล.ต.ต.พิษณุ อุณหเสรี ผบก.ภ.จ.อุดรธานี นายสมชัย พลายด้วง ผอ.กองคดี 5 ปปง. ตำรวจทางหลวง ร่วมกันแถลง ปฎิบัติการปิดล้อมตรวจค้นยึดทรัพย์เครือข่าย “ฟอกเงินหรือสนับสนุนการฟอกเงิน” กลุ่มเชื่อมโยงเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทขนส่ง

พร้อมของกลาง รถยนต์เก๋งยี่ห้อ Porsche สีดำ ทะเบียนป้ายแดง ฌ 5583 กรุงเทพมหานคร รถยนต์เก๋งยี่ห้อ Mercedes-Benz สีดำ ทะเบียน 4ขญ 5605 กรุงเทพมหานคร จักรยานยนต์ Harley-Davidson สีดำ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน เงินสด 5 แสนบาท เครื่องเพชร นาฬิกา กระเป๋า รองเท้า แบรนด์เนม สมุดบัญชีเงินฝาก บ้านและที่ดิน 2 หลัง รวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 90 ล้านบาท

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. เปิดเผยว่า มีประชาชนกลุ่มผู้เสียหายยื่นร้องเรียนและขอความช่วยเหลือไปยัง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ซึ่งได้รับความเสียหายจากกลุ่มขบวนการ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง มีผู้เสียหายลงชื่อร้องเรียนกว่า 166 ราย ความเสียหายประมาณ 90 ล้านบาท โดยเกิดเหตุต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องหลายท้องที่ทั่วประเทศ โดย ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) เป็นหน่วยงานในการสืบสวนขยายผลเพื่อสืบทรัพย์ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มขบวนการดังกล่าว อีกทั้งกลุ่มบุคคลที่เชื่อว่ามีการกระทำการอันเป็นการสนับสนุนการฟอกเงิน

จากการสืบสวนพบว่า มีกลุ่มบุคคลที่ความเกี่ยวข้องทางการเงิน จากบุคคลที่ได้รับจ้างเปิดบัญชี (บัญชีม้า) ให้กลุ่มขบวนการมิจฉาชีพนำไปใช้ในการก่อเหตุ เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีกับบุคคลที่รับจ้างเปิดบัญชี ให้กับกลุ่มแก๊งดังกล่าวในฐานความผิด “สนับสนุนการกระทำความผิดในความผิดฐานฟอกเงิน” ไปก่อนแล้ว และจากการขยายผล เส้นทางทางการเงินพบความเชื่อมโยงไปยังบุคคลต่างๆอีกหลายราย ทั้งในส่วนของ บุคคลผู้ทำหน้าที่ตะเวนกดเงินรับผลประโยชน์จากบัญชีผู้ต้องหา

อีกทั้ง พบพยานหลักฐานและพฤติการณ์ของกลุ่ม ที่เป็นนายหน้าจ้างให้เปิดบัญชีเพื่อนำมาใช้ในการปกปิด อำพราง ธุรกรรมทางการเงินและทรัพย์สิน ซึ่งเมื่อได้ตรวจสอบทรัพย์สินของบุคคลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ยังพบว่ามีอยู่ในการครอบครองอีกหลายรายการ อันน่าเชื่อว่า เป็น “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และเพื่อประโยชน์ในการแสวงหาพยานหลักฐานทางคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ขออนุมัติหมายค้นจากศาลอาญา เข้าทำการตรวจค้นบุคคลเป้าหมายในจ.อุดรธานี 6 จุด ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จำนวน 10 ราย ในการเชื่อมโยง และดำเนินการตรวจยึด/อายัดทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อจะได้นำส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบแหล่งที่มาของทรัพย์สินต่อไป

ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการต่อไปนั้น ทางกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จะได้นำพยานหลักฐานที่ได้จากการตรวจค้น รวบรวมเพื่อพิสูจน์ทราบความผิดทางอาญาของกลุ่มที่มีความเชื่อมโยงที่เข้าตรวจค้น ในความผิดฐาน “ร่วมกันฟอกเงินหรือร่วมกันสนับสนุนฟอกเงิน”นอกจากการดำเนินการพิสูจน์ทราบทางอาญาแล้วนั้น จุดมุ่งหมายสำคัญของการดำเนินการบูรณาการร่วมกันปิดล้อมตรวจค้นในครั้งนี้นั้น กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ยังจะร่วมกันขยายผลสืบทรัพย์ เพื่อคืนให้กลุ่มผู้เสียหายที่ได้รับความเดือดร้อน

ในการดำเนินการส่วนนี้นั้น กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้รวบรวมรายชื่อผู้เสียหาย พร้อมรายละเอียดความเสียหาย ประสานให้ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการคุ้มครองสิทธิ์ผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไว้ในเบื้องต้น ซึ่งหากภายหลังบุคคลตามที่ถูกตรวจยืด / อายัด ทรัพย์สิน ไม่สามารถนำพิสูจน์ถึงแหล่งที่มาหรือพบพยานหลักฐานแจ้งชัดว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการะทำความผิดมูลฐานฟอกเงิน หรือสนับสนุนการฟอกเงิน ทรัพย์ดังกล่าวก็จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการให้ทรัพย์นั้น ตกเป็นของแผ่นดินหรือเฉลี่ยคืนผู้เสียหายตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ ฝากประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์ในการรับจ้างเปิดบัญชีม้า และซิมม้า เพื่อให้กลุ่มมิจฉาชีพนำไปใช้ ปัจจุบันได้มี พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 17 มีนาคม 2566 ซึ่งมีบทกำหนดโทษผู้ที่รับจ้างเปิดบัญชี เปิดเบอโทรศัพท์ บัตรอิเล็กทรอนิก “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก่อนใช้ พรก. เราได้รับเรื่องผ่านทางออนไลน์ประมาณเดือนละ 800 ราย หลังจากนั้นจำนวนการแจ้งก็ลดลงเหลือเดือนละ 660 ราย เรื่องนี้ ผบ.ตร.ให้ความสำคัญมาก ท่านลงมาตรวจสอบด้วยตัวเองทุกสัปดาห์ และกำชับให้เร่งกวาดล้าง บัญชีม้า และซิมม้า และหากพบพยานหลักฐานว่าบัญชีที่รับจ้างเปิดให้กลุ่มมิจฉาชีพนั้น ถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิดมูลฐานฟอกเงิน ดังเช่นกรณีที่ได้มีการขยายผลนี้ บุคคลดังกล่าวอาจต้องถูกดำเนินคดี ในความผิดฐาน “สนับสนุนการกระทำความผิดในความผิดฐานฟอกเงิน” อีกข้อหาหนึ่ง ซึ่งจะต้องรับโทษเท่ากับตัวการคือ “จำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 11 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” ผบช.สอท.กล่าวในที่สุด