วช. จับมือ รร.นรต. ผลักดัน 3 แพลตฟอร์ม ชู 8 นวัตกรรมยุติธรรมท้าทายไทย สกัด เด็ก-เยาวชน ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ

วันนี้ (29 มิ.ย.2566) ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โรงเรียนนายร้อยตำรวจร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) จัดเสวนา “นวัตกรรมสู่ผลสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงการอำนวย ความยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน” ภายใต้แผนงานนวัตกรรมยุติธรรมท้าทายไทยเพื่อการป้องกัน การกระทำความผิดซ้ำและส่งเสริมโอกาสการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิด โดยมี การนำเสนอและส่งต่อผลผลิตจากงานวิจัย จำนวน 8 นวัตกรรม มีผู้เข้าร่วมงานทั้ง Online และ On-site กว่า 300 คน

พล.ต.ท.ดร.เสนิต สำราญสำรวจกิจ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ กล่าวว่า ข้อมูล การติดตามการกระทำผิดซ้ำรอบ 1 ปี ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีสถิติเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดทั้งสิ้น 1,892 คน ในจำนวนนี้มีผู้ที่ถูกจับซ้ำถึง 372 คน คิดเป็น ร้อยละ 19.66 ทำให้หลายหน่วยงานต่างให้ความสำคัญต่อการค้นหาสาเหตุเชิงลึกของปัญหาการกระทำผิดซ้ำ เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงร่วมกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ขับเคลื่อนการนำนวัตกรรมซึ่งเป็นผลผลิตจาก งานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยการเชื่อมโยงผลผลิตที่เด่นชัดของ 3 แพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ การใช้เทคโนโลยียุติธรรมอัจฉริยะ การเสริมพันธะทางสังคมด้วยภาคีเครือข่าย และการแก้ไขการตีตรา ด้วยยุติธรรมทางเลือก มีเป้าหมายสำคัญในการฟื้นฟูผู้กระทำผิดรายเก่าให้หมดไปและป้องกันผู้กระทำผิดราย ใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น

ศ.พล.ต.ต.หญิง ดร.พัชรา สินลอยมา ที่ปรึกษาคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนงานวิจัยดังกล่าวนี้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะที่ 3 โดยมีผลผลิตที่เป็นผลสำเร็จ จากกรอบการวิจัยทั้ง 3 แพลตฟอร์ม คือ นวัตกรรมยุติธรรมท้าทายไทย จำนวนทั้งสิ้น 8 นวัตกรรม ซึ่งมุ่งเน้น ให้เกิดการขยายผลและต่อยอดผลงานวิจัยสู่การปฏิบัติในเชิงรูปธรรม และผลักดันให้นำผลการวิจัยไปใช้ ประโยชน์ในการแก้ไขและป้องกันการกระทำผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนให้ครอบคลุม ทั้งกลุ่มที่อยู่ในการดูแล ของหน่วยงานในสังกัดของกรมพินิจฯ กลุ่มที่เคยกระทำความผิดและได้รับการปล่อยตัวกลับคืนสู่สังคม และกลุ่มที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนหรือเสี่ยงต่อการกระทำความผิด ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ส่งผลต่อการแก้ไข ปัญหาเร่งด่วนของการอำนวยความยุติธรรม จนเกิดผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาวิทยาการทางด้าน กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนในทุกมิติ

ผศ.พ.ต.อ.ดร.ธิติ มหาเจริญ รองคณบดีคณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในฐานะผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย กล่าวถึงผลสำเร็จของผลผลิตทั้ง 8 นวัตกรรม ภายใต้ 3 แพลตฟอร์มการวิจัยว่า สามารถจำแนกได้ ดังนี้

1) ด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยียุติธรรมอัจฉริยะ มีการจัดทำแอปพลิเคชั่นสื่อกลางการสร้าง โอกาสทางอาชีพ หรือ 3B-Job ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสทางอาชีพที่เปิดกว้างสำหรับเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิดอย่างเท่าเทียม และ Buddy Cop Program ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม JUDA ที่ เป็นช่องทางการเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้คำปรึกษา เช่น นักกฎหมาย นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ สำหรับให้ ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง รวมไปถึงการสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการตรวจสารเสพติดในเส้นผม ในรูปแบบ e-Learning และ Video Content ความสำเร็จของการนำนวัตกรรมทางนิติวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการปฏิบัติงานจริง

2) ด้านนวัตกรรมการเสริมพันธะทางสังคมด้วยภาคีเครือข่าย มีการใช้กลไกทางด้านจิตวิทยาสังคมในการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง พร้อมทั้งการสร้างจิตสำนึกสาธารณะ ด้านการเห็นใจและการช่วยเหลือผู้อื่น รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อร่วมกันให้ ความช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพด้านทักษะการดำเนินชีวิตสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างปกติสุข นอกจากนี้ ยังได้มีการถอดบทเรียนชีวิตเยาวชนต้นแบบในรูปแบบสกู๊ปเรื่องเล่าและสื่อวีดิโอ เพื่อเป็นกรณี ตัวอย่างความสำเร็จทางอาชีพที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กและเยาวชนที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมกลับคืนสู่สังคม

3) ด้านการแก้ไขการตีตราด้วยยุติธรรมทางเลือก มีการทดลองนำรูปแบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาของรัฐไปใช้ในการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดซ้ำ โดยก่อให้เกิด กระบวนการสร้างความเข้าใจให้สังคมไม่ตีตราหรือตอกย้ำซ้ำเติมด้วยการเปิดโอกาสให้ครอบครัว ชุมชน และสหวิชาชีพได้เข้ามาดำเนินงานร่วมกัน รวมไปถึงการเสนอปรับแก้กฎหมาย “เพิ่มเติมบทกำหนดโทษ ในประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 164/1 โดยให้เป็นความรับผิดชอบของบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ในกรณีเด็กและเยาวชนกระทำความผิดในคดียาเสพติด

“สาเหตุเชิงลึกของพฤติกรรมเบี่ยงเบนของเด็กและเยาวชน ประกอบด้วย ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน เพื่อน สื่อสังคมออนไลน์ และความเหลื่อมล้ำทางสังคม ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องให้ ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาในทุกมิติ โดยเฉพาะการดำเนินการแบบเชิงรุกให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง ทัศนคติ ลดการตีตรา และให้การยอมรับเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำผิด อันจะส่งผลให้เด็กและเยาวชนมีพลังใจ เชิงบวกและความมุ่งมั่นในการกลับตนเป็นคนดี ประกอบอาชีพสุจริต และตระหนักได้ว่าไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องหวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันตำรวจเอก ดร.ธิติ มหาเจริญ กล่าวปิดท้าย