ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้การอำนวยการ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.อภิชน เจริญผล รอง ผบก.บก.ปอศ., ว่าที่ พ.ต.อ.ธีรภาส ยั่งยืน ผกก.กก.3 บก.ปอศ., พ.ต.ท.นนทพัทธ์ ยอดแก้ว, พ.ต.ท.ภาสกร นภาโชติ,
พ.ต.ท.ณธัชพงศ์ สินสิริยานนท์ และพ.ต.ท.ชวลิต น้ำใจสัตย์ รอง ผกก.3 บก.ปอศ. เจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้น นำโดย พ.ต.ต.วรพจน์ ลลิตจิรกุล, พ.ต.ต.หญิง ปวีณวรรณ สินธุชัย, พ.ต.ต.หญิง กันต์ฐิชรีย์ มณีเกิด สว.กก.3 บก.ปอศ. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปอศ.
ร่วมกันตรวจค้น 4 บริษัท ดังนี้
- บริษัท สอดอ สไตล์ จำกัด
- บริษัท ไดนี่ กรุ๊ป จำกัด
- บริษัท คาราเมล บิสคิท จำกัด
- บริษัท แฮปปี้ทรีเฟรนด์ จำกัด
สถานที่ตรวจค้น บริเวณถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพ ฯ
พฤติการณ์ กก.3 บก.ปอศ. ได้รับเรื่องร้องเรียน ให้ตรวจสอบบุคคลและบริษัทเนื่องจากมีทรัพย์สินและพฤติกรรมใช้ชีวิตประจำวันอย่างฟุ่มเฟือย ซึ่งบุคคลดังกล่าวมีการโพสไลฟ์สด ว่าตนเสียเงินจากการเล่นพนันออนไลน์ จำนวน 35 ล้านบาท ในช่วงปีที่ผ่านมาตามสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นข่าว ผู้ร้องจึงขอให้มีการตรวจสอบแหล่งที่มาของทรัพย์สินดังกล่าว เนื่องจากมีประชาชนบางส่วนรับชมรายการผ่านช่องทาง Youtube และ Facebook ของ Youtuber ดังกล่าว ที่รับชม ถูกเชื้อเชิญให้ซื้อสินค้าต่างๆ โดยข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนจนทราบว่าบุคคลผู้มีพฤติกรรมดังกล่าวเป็น Youtuber ชื่อดัง มีผู้ติดตามหลายล้านคนในสื่อสังคมออนไลน์ โดยบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าของกิจการหลายบริษัท โดยพบว่า ไม่ได้ยื่นงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงมีการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าบริษัท ที่ Youtuber ชื่อดังนั้นเป็นเจ้าของกิจการ มีการยื่นงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่าความเป็นจริงโดยไม่สอดคล้องกับทรัพย์สิน และพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยตามที่ปรากฎบนสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการใช้เงินเล่นการพนันตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 ถึงปัจจุบัน รวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท จึงน่าเชื่อว่ามีความผิดปกติทางบัญชี และอาจเกี่ยวเนื่องไปจนถึงการเสียภาษีประจำปี
หลังเข้าตรวจค้นพบว่า บริษัทของ Youtuber ชื่อดังและแฟนหนุ่มที่เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นนั้น มีความผิดอื่นๆ ตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 และ พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ.2543 ในข้อหา ดังนี้
- ไม่ได้จัดเก็บเอกสารทางบัญชีไว้ที่สถานประกอบการ ซึ่งไม่ปฏิบัติตามมาตรา 13 โทษตาม มาตรา 31 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
- ไม่ได้จัดทำใบหุ้นมอบให้กับผู้ถือหุ้น อันเป็นความผิดตามาตรา 8 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- ไม่ได้จัดทำสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น อันเป็นความผิดตามมาตรา 10 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
- มีการย้ายเปลี่ยนแปลงสำนักงานและเพิ่มสาขาที่ใช้ในการประกอบกิจการ ซึ่งไม่ส่งคำบอกการเปลี่ยนย้ายสำนักงานแก่นายทะเบียนเพื่อจดทะเบียน อันเป็นความผิดตามมาตรา 14 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
โดยทั้ง 2 บริษัท มีโทษปรับทั้งส่วนนิติบุคคล และกรรมการที่มีอำนาจลงนามในฐานะบุคคล รวมโทษปรับสูงสุดที่ 275,000 บาท
ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจสอบเอกสารทางบัญชีของบริษัทที่อาจเข้าข่ายความผิดในเรื่อง การรายงานเท็จ แก้ไข ละเว้นการลงรายการในบัญชีหรือ งบการเงิน หรือแก้ไขเอกสารที่ต้องใช้ประกอบ การลงบัญชีเพื่อให้ผิดความเป็นจริง อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ.2543
สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาข้างต้น และอยู่ในระหว่างการตรวจสอบเรื่องเอกสารทางบัญชีของบริษัทเพิ่มเติม
เตือนภัย นิติบุคคลมีหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ครบถ้วน เช่น การจัดเก็บเอกสาร ณ ที่ตั้ง, การจัดทำใบหุ้น, สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น, นำส่งงบการเงินและรายงานประจำปี ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หากปฏิบัติไม่ตรงตามระยะเวลาหรือระเบียบที่กำหนด จะมีโทษปรับ ตามที่กฎหมายกำหนด และการทำบัญชีประจำปีควรทำให้ถูกต้อง หากเจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบและพบการกระทำความผิดในเรื่อง
การรายการเท็จ แก้ไข ละเว้นการลงรายการในบัญชีหรืองบการเงิน ซึ่งเป็นการทุจริต ถือเป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งผู้จัดทำบัญชี ผู้ทำบัญชี และผู้สอบบัญชี ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ว่าที่ พ.ต.อ.ธีรภาส ยั่งยืน ผกก.3 บก.ปอศ. โทร. 085-8289599