ผบ.ตร. ประชุมเข้ม แลกเปลี่ยนข้อมูล วางระบบป้องกัน แก้ไขปัญหาภัยออนไลน์ พร้อมประชาสัมพันธ์ ปชช. ทำข้อสอบ 80 ข้อ ให้ความรู้การป้องกันภัยหลอกลวงออนไลน์

ผบ.ตร. ประชุมเข้ม แลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง วางระบบป้องกัน แก้ไขปัญหาภัยออนไลน์ พัฒนาระบบรับส่งข้อมูล ผ่านระบบBanking เร่งช่วยเหลือผู้เสียหาย เดินหน้าปราบปรามบัญชีม้า ซิมม้า อย่างจริงจัง  พร้อมประชาสัมพันธ์ประชาชนทำข้อสอบ 80 ข้อ ให้ความรู้การป้องกันภัยหลอกลวงออนไลน์ หวังสร้างภูมิคุ้มกันโจร

วันนี้ (22 มิ.ย.66) เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 1/2566  โดยมีนายเวทางค์  พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นรองประธาน  พร้อมผู้แทน สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานอัยการสูงสุด, ปปง., กรมสอบสวนคดีพิเศษ, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, กสทช., สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ, ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 ท่าน เป็นอนุกรรมการ

โดยสาระสำคัญในครั้งนี้ ได้วางมาตรการตรวจสอบ พฤติการณ์เหตุอันควรสงสัยที่เกี่ยวข้องกับบัญชีม้า ธุรกรรมต้องสงสัย ซิมม้า การสื่อสารที่ใช้หลอกลวงประชาชน เพื่อนำไปใช้ในการป้องกันมิให้เกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ในเชิงรุก และหารือเรื่องระบบ ช่องทาง และ วิธีการ รับส่งข้อมูลระหว่างเจ้าหน้าที่ ผู้ให้บริการทั้งด้านการเงินและโทรคมนาคม และผู้เสียหาย

โดยที่มติประชุมได้เร่งให้ กสทช. ธนาคาร และหน่วยที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำระบบ กระบวนการเปิดเผยแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นขั้นตอนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว  พัฒนาระบบ Banking ให้มีช่องทางในการรับแจ้งเหตุฯ เพื่อขับเคลื่อนให้มีประสิทธิภาพในการระงับความเสียหาย ป้องกันปราบปราม และดำเนินคดีกับคนร้ายในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ดียิ่งขึ้น

หลังจากที่ พรก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ได้ประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.66 ที่ผ่านมา สถิติคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีลดลงได้ระดับหนึ่ง  ลดลงโดยเฉลี่ยจาก 790 เรื่อง/วัน ลงไปเป็น 684 เรื่อง/วัน  การอายัดบัญชีจากเดิมอายัดได้ทันโดยประมาณร้อยละ 6.5 มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 15 เป็นต้น  แต่ทั้งนี้ยังพบปัญหาในทางปฏิบัติ และประชาชนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก  จึงต้องเร่งบูรณาการทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในทิศทางเดียวกัน  ทั้งวิธีการรับแจ้งจากผู้เสียหาย  การอายัด  การระงับธุรกรรม การส่งต่อข้อมูล  ตลอดจนการดำเนินคดีให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ด้านการปราบปราม ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ทุกหน่วยระดมกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในห้วงเดือน พ.ค.66 สามารถจับกุมผู้กระผิดได้ 3,366 คดี ผู้ต้องหา 3,262 ราย ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้า 179 คดี ผู้ต้องหา 168 ราย และความผิดเกี่ยวกับซิมม้า 40 คดี ผู้ต้องหา 48 ราย

และในด้านการประชาสัมพันธ์ ผบ.ตร. ได้จัดทำข้อสอบ Cyber Vaccine จำนวน 80 ข้อ กระจายทุกพื้นที่ทั่วประเทศ  ให้ประชาชนทดสอบ เป็นการฉีดวัคซีนไซเบอร์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการหลอกลวงออนไลน์ รูปแบบกลโกงต่างๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถเข้าทดสอบได้ผ่าน QR Code (ที่แนบมาพร้อมนี้)

ผบ.ตร. เชื่อว่าหลังจากการประชุมขับเคลื่อนในวันนี้ ทุกหน่วยจะได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา ข้อขัดข้อง จัดวางระบบการส่งต่อ แลกเปลี่ยนข้อมูล การบังคับใช้กฎหมายและการระงับธุรกรรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ ได้อย่างทันท่วงที และกล่าวอีกว่า “ขอฝากประชาสัมพันธ์ในกรณีที่ประชาชนได้รับความเสียหายจากคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ติดต่อสายด่วนธนาคารที่ตนเป็นเจ้าของเพื่อระงับบัญชีโดยเร็ว โดยธนาคารจะออก Bank ID ผ่าน sms และขอให้ผู้เสียหายไปแจ้งความกับตำรวจที่ใดก็ได้โดยเร็ว  โดยไม่ต้องคำนึงถึงท้องที่เกิดเหตุ ภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อให้ระงับความเสียหายและดำเนินคดีต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว  หากประสงค์จะแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ทาง https://thaipoliceonline.com  สายด่วน 1441 ปรึกษา-ขอคำแนะนำ 081 866 3000 ตลอด 24 ชั่วโมง”