วันนี้ (21 มิ.ย.66) เวลา 14.30 น. พล.ต.ต.ไพโรจน์ สุขรวยธนโชติ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา ผบก.สอท.5 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องร่วมกันแถลงข่าว ปฏิบัติการ Shutdown Fake Loan EP.2 ทลายรังคีย์แมนทุนจีน ณ ห้องประชุม กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ
การปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติการภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา ผบก.สอท.5 ได้สั่งการ พ.ต.อ.กู้เกียรติ วงษ์พันธ์ ผกก.4 บก.สอท.5 ให้ข้าราชการตำรวจในสังกัดปฏิบัติการขยายผลการจับกุม เครือข่ายหลอกกู้เงินที่ทาง บช.สอท. ได้ออกหมายจับผู้ต้องหากว่า 52 ราย จับกุมแล้วกว่า 40 ราย หลังขบวนการนี้สร้างความเสียหายหลอกเหยื่อกว่า 400 ราย ให้กู้เงินผ่านเว็บไซต์และลิ้งก์ข้อความสั้น (SMS) โดยขบวนการดังกล่าวออกอุบายโฆษณาชวนเชื่อในลักษณะให้วงเงินสูง อัตราดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติเงินเร็ว และใช้ เอกสารน้อย จากนั้นจะให้แอดไลน์ติดตั้งแอปพลิเคชันเงินกู้ของมิจฉาชีพ โดยอ้างว่าผู้เสียหายจะได้รับเงินตามที่ขอกู้ยืม จริง แต่ต่อมามีเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ต้องโอนเงินมัดจำก่อน ต้องทำกรมธรรม์คุ้มครองวงเงิน ต้องจ่ายค่างวดล่วงหน้า หรือ แจ้งว่ามีการกรอกเลขบัญชีธนาคารผิด ต้องจ่ายเงินเป็นค่าเครดิต เป็นค่ารหัสผ่านในการถอนเงิน เป็นต้น เมื่อผู้เสียหาย หลงเชื่อโอนเงินไปแล้วกลับไม่ได้รับเงินแต่อย่างใด จึงเชื่อว่าถูกหลอกลวง จึงได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ผ่านระบบการรับแจ้งความออนไลน์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.66เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนติดตามจนทราบว่า MRS.YUAN หญิงชาวจีน บุคคลตาม หมายจับ กำลังจะเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศ จึงรีบนำกำลังเข้าจับกุมได้ทันทีที่ สนามบินสุวรรณภูมิ นำส่งพนักงาน สอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายและสอบสวนขยายผลต่อไป
ต่อมาวันนี้ 21 มิ.ย.66 จึงได้มีเปิดปฏิบัติการการตรวจค้น คอนโดหรูกลางกรุง จำนวน 3 จุด ในครั้งนี้ ได้ตรวจ ยึดของกลางหลายรายการมูลค่าหลายล้านบาท อาทิเช่น คอนโดมูลค่า 24 ล้านบาท, คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค, Hardware Wallet, สมุดบัญชีธนาคารซึ่งมีเงินหมุนเวียนจำนวนมาก, นาฬิกา และสินค้าแบรนด์เนม หลายรายการ จึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ปปง. ยึดทรัพย์สินดังกล่าวไว้เพื่อตรวจสอบ
ปัจจุบันมิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อ สังคมออนไลน์ต่างๆ หรือผ่านข้อความสั้น (SMS) หรือโทรศัพท์ไปยังประชาชน โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะ กู้ง่าย อนุมัติ เร็ว วงเงินสูง ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ต้องมีหลักประกัน ใช้เอกสารน้อย เป็นต้น เพราะฉะนั้นประชาชนต้องพึงระวังการกู้เงินใน ลักษณะดังกล่าว ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ให้บริการได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ หากจำเป็นต้องกู้เงินควรเลือกกู้เงินจากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ และศึกษารายละเอียดของผู้ให้กู้ให้ดี รวมถึงมีสัญญาการกู้ที่ชัดเจนและเป็นธรรม เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบ หากพบเห็นความผิดปกติ หรือขอเสนอที่ดีเกินไปควรหลีกเลี่ยง อย่าหลงเชื่อว่าตัวเองโชคดี จึงขอฝากประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันการถูกหลอกลวงให้กู้เงินออนไลน์ ดังนี้
1.ถ้าผู้ให้บริการกู้เงินรายใด แจ้งให้ผู้ขอกู้โอนเงินก่อน ไม่ว่าจะเป็นค่าใดๆ ก็ตาม สันนิษฐานไว้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพ หลอกลวงแน่นอน
2.ตรวจสอบผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตได้ที่เว็บไซต์ ธนาคารแห่งประเทศไทย www.bot.or.th
3.เว็บไซต์ปลอมจะไม่สามารถเข้าถึงฟังก์ชันต่างๆ ของเว็บไซต์ได้ หวังเพียงหลอกลวงให้เหยื่อเพิ่มเพื่อนทางไลน์เท่านั้น
4.ระวังไลน์ทางการปลอม ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีสัญลักษณ์ยืนยันตัวตนโล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หรือไม่
5.ไม่ควรกู้เงินผ่านแอปพลิเคชั่น ที่ถูกส่งลิงก์แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ
6.แอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบ มักจะตั้งชื่อคล้ายคลึงกับผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต หรือแอบอ้างเป็นผู้ได้รับอนุญาต ควรสอบถาม หรือหาข้อมูลด้วยตนเองจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ว่าเป็นแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการจริงหรือไม่
7.แอปพลิเคชันเงินกู้สามารถเข้าถึงข้อมูลรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์ มิจฉาชีพจะนำข้อมูลที่ได้ไปข่มขู่บุคคลดังกล่าวเพื่อให้ผู้กู้อับอายรีบนำเงินมาชำระโดยเร็ว
8.ไม่ควรหลงเชื่อเพียงเพราะมีการสร้างความน่าเชื่อ เช่น สอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้ทำสัญญาเงินกู้ และขอเอกสารต่างๆ เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีเงินฝาก คล้ายกับการขอกู้ที่ธนาคารจริง