จากกรณีเมื่อวันที่ 29 ต.ค.65 ที่ผ่านมา มูลนิธิเส้นด้าย ได้เข้าแจ้งขอความช่วยเหลือจาก สภ.อัมพวา ภ.จว.สมุทรสงคราม กรณีพบเด็กซึ่งอยู่ในความดูแลของมูลนิธิคุ้มครองเด็กของ นายมนตรี หรือครูยุ่น อายุ 61 ปี ถูกทำร้ายร่างกาย โดยมีภาพถ่ายวิดีโอปรากฏภาพของเด็กจำนวนหนึ่งถูกนายมนตรีฯ ใช้ไม้ตี ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อัมพวา และ กก.5 บก.ปคม. พร้อมด้วย พม.จว.สมุทรสงคราม และมูลนิธิเส้นด้าย ได้เข้าตรวจสอบที่มูลนิธิคุ้มครองเด็ก (บ้านครูยุ่น) เลขที่ 56 หมู่ 1 ต.สวนหลวง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พบเด็กอายุตั้งแต่ 1 ปี เศษ ถึง 18 ปี รวมจำนวน 56 ราย จึงได้ร่วมกันคัดแยกเหยื่อ เบื้องต้นพบเป็นเหยื่อจำนวน 8 ราย จึงได้นำไปดูแลคุ้มครอง ตามที่สื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียได้นำเสนอไปแล้วนั้น
กรณีดังกล่าว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศพดส.ตร. ได้สั่งการให้ สภ.อัมพวา ภ.จว.สมุทรสงคราม ดำเนินการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับนายมนตรีฯ หรือครูยุ่น รวมทั้งสืบสวนขยายผลดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งเร่งให้การพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว จากการสอบสวนเด็กที่เป็นผู้เสียหายร่วมกับสหวิชาชีพ พบว่า มีเด็กทั้งหมด 33 คน เคยถูกครูยุ่นลงโทษด้วยการทุบตีหลายครั้ง โดยถูกตีด้วยเหล็กหรือไม้ไผ่ ตบศีรษะ บีบคอ หรือแม้กระทั่งถูกลากไปกดน้ำที่อ่างน้ำจนสำลัก นอกจากนี้ยังถูกบังคับให้ไปทำงานที่ บ้านแม่น้ำรีสอร์ท ต.บางขันแตก อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นของ นางพิมล อายุ 61 ปี ภรรยาของครูยุ่น โดยทำหน้าที่ทำความสะอาด และเปลี่ยนผ้าปูที่นอน โดยจะให้ค่าแรงคนละ 40-60 บาท แต่หากไม่ไปทำ ก็จะถูกหักเงินค่าขนมในแต่ละวัน
พนักงานสอบสวน สภ.อัมพวา ได้สอบปากคำพยานมากกว่า 100 ปาก รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลบุคคลที่เกี่ยวข้องและเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับตัวครูยุ่นและมูลนิธิคุ้มครองเด็ก และสรุปสำนวนสั่งฟ้องผู้ต้องหาจำนวน 3 ราย ประกอบด้วย
1. นายมนตรี หรือครูยุ่น อายุ 61 ปี ดำเนินคดีฐาน เป็นผู้ปกครองสวัสดิภาพโดยไม่ได้รับการแต่งตั้ง,เป็นผู้ปฏิบัติงานในสถานสงเคราะห์เด็กทำร้ายร่างกายหรือจิตใจหรือลงโทษเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลโดยวิธีการรุนแรงประการอื่น , กระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก, ทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ, ร่วมกันบังคับใช้แรงงานโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย ขู่เข็ญด้วยประการใดๆกระทำด้วยประการอื่นใดอันมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับการกระทำดังกล่าวข้างต้นและได้กระทำให้ผู้ถูกกระทำนั้นอยู่ในสภาวะที่ไม่อาจขัดขืนได้ , ร่วมกันกระทำความผิดฐาน ร่วมกันเป็นนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นลูกจ้าง , ร่วมกันเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ , ร่วมกันเป็นนายจ้าง จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นลูกจ้างโดยมิได้แจ้งการจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กนั้นต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เด็กทำงาน , ร่วมกันกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก
2. นางพิมล อายุ 61 ปี ดำเนินคดีฐาน ร่วมกันบังคับใช้แรงงานโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อ ร่างกาย ขู่เข็ญด้วยประการใดๆกระทำด้วยประการอื่นใดอันมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับการกระทำดังกล่าวข้างต้นและได้กระทำให้ผู้ถูกกระทำนั้นอยู่ในสภาวะที่ไม่อาจขัดขืนได้,ร่วมกันกระทำความผิดฐาน ร่วมกันเป็นนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี เป็นลูกจ้าง , ร่วมกันเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ,ร่วมกันเป็นนายจ้าง จ้างเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีเป็นลูกจ้างโดยมิได้แจ้งการจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กนั้นต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เด็กทำงาน ,ร่วมกันกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก
3. มูลนิธิคุ้มครองเด็ก โดยมีนายแก้วสรร เป็นประธานกรรมการฯ ดำเนินคดีฐาน เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานสงเคราะห์ ไม่ยื่นขอแต่งตั้งผู้ปกครองสวัสดิภาพเด็ก แต่ยังกระทำการเป็นผู้ปกครองสวัสดิภาพ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.66 เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพบว่า มูลนิธิคุ้มครองเด็กได้มีการวางตู้รับบริจาคที่บริเวณห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว จึงได้ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมพบว่า มูลนิธิมีการวางตู้รับบริจาคหลายพื้นที่ทั่วประเทศมากกว่า 300 จุด เพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายของมูลนิธิ แต่มิได้มีการขออนุญาตตามกฎหมายแต่อย่างใด จึงได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับ มูลนิธิคุ้มครองเด็ก พร้อมกรรมการจำนวน 6 คน ที่พื้นที่ สน.โชคชัย ในความผิดฐาน ทำการเรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยออกหมายเรียกผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 24 พ.ค.66 นี้
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ กล่าวว่า คดีดังกล่าวหลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าช่วยเหลือเด็กที่มีภาพปรากฏในคลิปที่ถูกทำร้ายเบื้องต้นแล้ว ก็ได้สอบปากคำและคัดแยกผู้เสียหายและให้การช่วยเหลือคุ้มครองเด็กทั้งหมดจนพบว่า มีเด็กหลายคนที่อยู่ภายใต้ความดูแลของครูยุ่นถูกทำร้ายทุบตีมากถึง 33 คน รวมทั้งยังถูกบังคับให้เด็กไปทำงานที่รีสอร์ทของภรรยาตนเอง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นจากบุคคลที่เด็กไว้วางใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมูลนิธิที่มีหน้าที่ดูแลให้ความคุ้มครองเด็กโดยตรง จึงได้ดำเนินคดีกับทั้งครูยุ่น ภรรยา และตัวมูลนิธิ นอกจากนี้ยังสืบทราบว่า มูลนิธิดังกล่าวได้มีการวางตู้บริจาคเพื่อเรี่ยไรเงินนำมาใช้จ่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมายจนถึงที่สุด