วันนี้ (18 พฤษภาคม 2566) พลโท พนา แคล้วปลอดทุกข์ แม่ทัพภาคที่ 1 / ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานภาค 1 เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกหลักสูตรจิตอาสา 904 “หลักสูตรพื้นฐาน” (ภาค 1) รุ่นที่ 3 ประจำปี 2566 โดยมี ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 15 รวมทั้งผู้เข้ารับการฝึกจำนวน 200 คน เข้าร่วมพิธี ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ณ ห้องประชุมศูนย์ฝึกจิตอาสา ภาค 1 อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการฝึกอบรมหลักสูตรจิตอาสา 904 ทรงพระราชทานหลักสูตรฯ การอบรม ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในเนื้อหาวิชาต่างๆ สำหรับการให้ความรู้แก่ผู้รับการฝึก เพื่อให้หลักสูตรนี้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อดูแลในเรื่องสวัสดิการด้านต่างๆ ซึ่งผู้ผ่านการอบรมจะเป็นบุคลากรแกนนำในการทำประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวม ที่จะร่วมสร้างจิตสำนึกให้กับคนในชาติ เป็นตัวอย่างปลูกฝังทัศนคติที่ดี รวมถึงองค์ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะด้านจิตอาสา และความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ให้ได้รับทราบที่จะถ่ายทอดให้แก่ประชาชนต่อไป
ด้วยความน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่างๆ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน และพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน ภาค 1 จึงได้จัดให้มีการฝึกอบรม หลักสูตรจิตอาสา 904 ขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายประชาชนจิตอาสาเป็นแกนนำหลัก
ในการสร้างจิตสำนึกในหน้าที่การเป็นพลเมืองที่ดี มีความเสียสละ มีระเบียบวินัย รู้จักหน้าที่ของตน และมีจิตสาธารณะช่วยสร้างสรรค์ ชุมชนโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน สามารถเป็นผู้นำในการปฏิบัติงานสาธารณประโยชน์ต่อส่วนรวม ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และประสานความร่วมมือระหว่างศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานภาคกับภาคส่วนราชการในพื้นที่ หากเกิดสถานการณ์ด้านภัยพิบัติ นอกจากนั้น สามารถน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปถ่ายทอดให้กับชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งได้คัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในพื้นที่ภาคกลาง เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 200 คน ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2566 ซึ่งผู้รับการฝึกจะได้รับความรู้ 5 หมวดวิชา คือ หมวดวิชาการพัฒนาบุคลิกภาพ หมวดวิชาอุดมการณ์และสถาบันพระมหากษัตริย์ หมวดวิชาองค์ความรู้ด้านจิตอาสา หมวดวิชาองค์ความรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหมวดวิชาการศึกษาดูงาน
นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งกลุ่มศึกษาเป็นคณะ ทั้งการสัมมนาแผนพัฒนาและแผนภัยพิบัติ การบรรยาย และการเป็นวิทยากร ซึ่งหลังจากสำเร็จการศึกษา ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับพระราชทานหมวก ผ้าพันคอ ใบประกาศนียบัตร พร้อมทั้งเครื่องหมายหลักสูตรจิตอาสา 904 “หลักสูตรพื้นฐาน” อันจะเป็นเครื่องแสดงความสามารถที่มีเกียรติ ทั้งต่อตนเองและวงศ์ตระกูล ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้