ตร.ไซเบอร์ เตือนภัย อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพหลอกขายแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) ฉวยโอกาสช่วงค่าไฟฟ้าแพง

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอเรียนประชาสัมพันธ์เตือนภัยประชาชน กรณีมิจฉาชีพเข้ามาแฝงตัวในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เพื่อหลอกลวงขายหลอกขายแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) ดังนี้

ได้รับรายงานจากกองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) พบว่าเริ่มมีมีผู้เสียหายหลายรายทยอยเข้าแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ หลักจากถูกมิจฉาชีพหลอกลวงขายแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) หรืออุปกรณ์สำหรับการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ให้กับเหยื่อผู้ที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายการอุปโภค และบริโภคจากการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบของที่พักอาศัย โดยมิจฉาชีพได้ฉวยโอกาสในช่วงที่โซลาร์เซลล์ (Solar Cell) กำลังเป็นที่นิยม และได้รับความสนใจในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน ใช้บัญชีเฟซบุ๊กปลอมแฝงตัวเข้ามาในกลุ่มต่างๆ ที่มีการซื้อขายโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โพสต์ประกาศขายสินค้าดังกล่าวในราคาถูกกว่าราคาท้องตลาด ใช้รูปภาพที่คัดลอกมาจากช่องทางที่มีการซื้อจริง โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณต่างๆ และมีการเร่งรัดให้รีบตัดสินใจว่าสินค้าใกล้จะหมด และนอกจากนี้แล้วมิจฉาชีพยังใช้วิธีการสร้างเพจเฟซบุ๊กปลอมขึ้นมาทั้งหมดเพื่อหลอกลวงขายสินค้าประเภทดังกล่าวอีกด้วย

ที่ผ่านมานับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – 16 เม.ย.66 พบว่าการหลอกลวงซื้อสินค้า หรือบริการ ยังคงมีประชาชนตกเป็นเหยื่อ โดยได้แจ้งความร้องทุกข์ผ่านระบบการรับแจ้งความออนไลน์สูงที่สุดเป็นลำดับที่ 1 จำนวนกว่า 85,395 เรื่อง หรือคิดเป็น 35.61% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 1,255 ล้านบาท

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานในด้านการป้องกันปราบปราม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง
ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอประชาชนพึงระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ อย่าเห็นแก่ของถูกแล้วรีบโอนเงิน โดยขอประนามการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ถือว่าเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้ที่ผ่านมา บช.สอท. ยังคงเร่งปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง นำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดทุกราย ไม่มีละเว้น เพื่อไม่ให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง โดยล่าสุดได้ทำการจับกุมแก๊งหลอกลวงเหยื่อส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง ทลายโกดังตรวจยึดของกลางจำนวนมาก อยู่ระหว่างขยายผลไปยังนายทุนจีนที่อยู่เบื้องหลัง อย่างไรก็ตามขอฝากประชาสัมพันธ์ พร้อมแนวทางการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้

1.ระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง

2.ระมัดระวังการซื้อสินค้าราคาถูก จำไว้ว่า ของฟรีไม่มีในโลก ของถูกต้องถูกอย่างมีเหตุผล

3.ตรวจสอบบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ประกาศขายสินค้าเบื้องต้นว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ มีความเคลื่อนไหวหรือไม่ มีเพื่อนมากน้อยเพียงใด สร้างบัญชีมานานเท่าใด เป็นต้น

4.ระมัดระวังเพจเฟซบุ๊กปลอม หรือลอกเลียนแบบเพจจริง โดยเพจเฟซบุ๊กจริงควรจะมีผู้ติดตามสูง มีการสร้างขึ้นมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และมีรายละเอียดการติดต่อร้านชัดเจน และสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้

5.ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจเฟซบุ๊ก ว่ามีการเปลี่ยนชื่อขายสินค้าใดมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ

6.ตรวจสอบว่ามีสินค้าจริงหรือไม่ โดยขอดูภาพหลายๆ มุม นอกจากภาพที่ประกาศขาย สอบถามรายละเอียดสินค้าที่เกี่ยวข้อง ผลิตจากที่ใด เงื่อนไขการรับประกัน วิธีการใช้งาน เป็นต้น

7.ตรวจสอบการรีวิวสินค้า ผู้ที่เคยสั่งซื้อได้รับสินค้าหรือไม่ คุณภาพสินค้าเป็นอย่างไร ระวังการรีวิวปลอม ควรตรวจสอบตัวตนผู้รีวิวว่าเป็นมิจฉาชีพ หรือบัญชีอวตารหรือไม่

8.ก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า ให้ตรวจสอบประวัติของร้าน และชื่อหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ Google, https://www.blacklistseller.com หรือ https://www.chaladohn.com เป็นต้น

9.เมื่อชำระเงินแล้ว ควรติดตามการจัดส่งจากผู้ซื้อ หรือขอดูหลักฐานการส่งสินค้า เพื่อยืนยันว่าส่งสินค้าให้จริง

10.กรณีการจ่ายเงินปลายทาง ควรถ่ายคลิปวิดีโอพร้อมการเปิดกล่องพัสดุดูสินค้า ว่าตรงกับที่สั่งหรือไม่ สินค้าชำรุดหรือไม่

11.หากท่านไม่ได้สั่งซื้อสินค้าดังกล่าว ควรปฏิเสธและห้ามชำระเงิน หากไม่มั่นใจให้สอบถามบุคคลในบ้านให้ชัดเจน

12.กดรายงานบัญชี หรือเพจในเฟซบุ๊กปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อ