“ผู้ช่วย ผบ.ตร.” ห่วงใยประชาชน ติดตามมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เผยสถิติ 2 วัน ควบคุมเข้มข้น เทียบค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ยังอยู่ในเกณฑ์ค่าเป้าหมาย กำชับทุกหน่วยเร่งอำนวยความสะดวกการจราจร ลดการสูญเสียในช่วงเทศกาลสงกรานต์
วันนี้ ที่ตำรวจภูธรภาค 5 พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.(มค) ได้ให้ความสำคัญในการอำนวย ความสะดวกการจราจร การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแก่ประชาชนและสังคม ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 จึงได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะ รอง ผอ.ศูนย์ฯ ประชุม ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 เพื่อติดตามข้อมูลและสถิติการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ข้อมูลและสถิติอุบัติเหตุใหญ่ การบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก การตั้งจุดตรวจ แนวทางการป้องกันอุบัติเหตุในพื้นที่ ตลอดจนสภาพการจราจรและปริมาณรถในพื้นที่ โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เป็นประธานการประชุม และมีผู้แทน บช.น., ภ.1 – 9 และ บช.ก. เข้าร่วมประชุม
พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวว่า สถิติสะสมในห้วง 2 วัน ควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11 – 12 เม.ย.66 มีการเกิดอุบัติเหตุ 618 ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของสงกรานต์ปี 65 จำนวน 75 ครั้ง (+13.81%) โดยลดลงกว่าค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี 107 ครั้ง (-14.76%) สถิติผู้เสียชีวิต 63 ราย ลดลงกว่าช่วงเดียวกันของสงกรานต์ปี 65 จำนวน 13 ราย (-17.11%) และลดลงกว่าค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี 26 ราย (-29.21%) สถิติผู้บาดเจ็บ 618 คน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของสงกรานต์ปี 65 จำนวน 84 ราย (+15.73%) โดยลดลง กว่าค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี จำนวน 112 คน (- 15.34%) จำนวนอุบัติเหตุสะสมสูงสุดในพื้นที่ จว.เชียงใหม่ 25 ครั้ง เสียชีวิตสูงสุด ในพื้นที่ กทม. 7 ราย บาดเจ็บสูงสุดในพื้นที่ จว.เชียงใหม่ 27 ราย โดยมีสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ร้อยละ 38.51 และมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บสูงสุดจากการไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 57.71 โดยอุบัติเหตุเกิดขึ้นในถนนทางหลวงมากที่สุด ร้อยละ 41.59 สำหรับยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.75 ซี่งช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือช่วง 19.00-20.00 น. โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้บังคับใช้กฎหมายจราจร 10 ข้อหาหลัก รวม 143,436 ราย ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด 54,135 ราย ไม่มีใบอนุญาต ขับขี่ 31,913 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 28,093 ราย ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด 54,135 ราย เมาแล้วขับ 5,858 ราย ตามลำดับ
พล.ต.ท.ประจวบฯ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศปฏิบัติตามแนวทางข้อสั่งการของ ผบ.ตร. โดยเคร่งครัด และขอชมเชยการปฏิบัติงานของทุกหน่วยในการป้องกันและลดอุบัติเหตุในห้วง 2 วันของช่วง 7 วัน ควบคุมเข้มข้น แม้ว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บ จะเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่สถิติเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ยังอยู่ในเกณฑ์ค่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับสถิติเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (พ.ศ.2563 – 2565) ดังนั้น จังหวัดใดที่มีแนวโน้มสถิติที่สูง ให้ปรับแผนการปฏิบัติเพิ่มเติมให้สอดรับกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสม เพื่อให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ลดลงตามเกณฑ์ที่กำหนด การตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจรและการตั้งจุดตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน SOP ที่ ตร. กำหนด ทั้งด้านวัสดุ อุปกรณ์ กล้อง CCTV ป้ายข้อความ การแต่งกาย ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครจราจร มีการจัดเก็บอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และให้เน้นกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิต เช่น ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่สวมหมวกนิรภัย ขับรถในขณะเมาสุรา และขับรถด้วยความเร็ว เกินกฎหมายกำหนด
พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวต่อว่า ในห้วงนี้จะเป็นช่วงที่ประชาชนกลับไปเฉลิมฉลอง รวมถึงมีการจัดกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์ตามภูมิลำเนาและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพื้นที่จัดกำลังดูแลความสงบเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกการจราจรให้เหมาะสมและเพียงพอ นอกจากนี้จะมีการดื่มสุราเพื่อสังสรรค์กัน จึงขอให้ทุกหน่วยออกกวดขันจับกุมดำเนินคดี กับผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุรา เพื่อช่วยป้องกันและลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยเน้นไปที่ถนนในเขตชุมชน หรือเส้นทางที่มีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุสูง ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุคดีจราจร ให้สืบสวนสอบสวนเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ จุดใดเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ให้นำไปวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขปัญหามิให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำในบริเวณดังกล่าว และเน้นย้ำในกรณีการเกิดอุบัติเหตุที่มีคู่กรณีหรือมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ให้ พงส. ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ทุกราย หากไม่สามารถตรวจวัด ด้วยการเป่าด้วยลมหายใจได้ ให้ขอให้แพทย์ทำการตรวจพิสูจน์ด้วยวิธีทางการแพทย์ต่อไป และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบข้อกฎหมายเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ และการกระทำที่ไม่เหมาะสมในการเล่นน้ำสงกรานต์ เช่น การแต่งตัวโป๊เปลือยเล่นน้ำในที่สาธารณะ การประแป้งโดยผู้อื่นไม่ยินยอม การใช้ปืนแรงดันน้ำฉีดใส่ผู้อื่น เป็นต้น ตลอดจนวิธีการปฏิบัติตนในการนั่งท้ายกระบะ ซึ่ง ตร. ได้มีประกาศ เรื่อง การยกเว้นให้คนโดยสารไม่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยในรถบางประเภท พ.ศ.2566 โดยกำหนดจำนวนนั่งท้ายรถกระบะไม่เกิน 6 คน นั่งใน Space cab ไม่เกิน 3 คน และการนั่งท้ายกระบะโดยไม่นั่งริมขอบกระบะ รวมทั้งใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม. เพื่อเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันอุบัติเหตุ ต่อไปจะเข้าสู่ช่วงที่ประชาชนจะต้องเดินทางกลับ จึงให้ทุกหน่วยเตรียมปรับแผนการปฏิบัติมาที่เส้นทางขาเข้า โดยให้เตรียมความพร้อมในด้านกำลังพลและวัสดุอุปกรณ์ ในการจัดกำลังเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการจราจรประจำจุดให้เน้นจุดที่มีปริมาณรถหนาแน่น และจุดที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เน้นการปรากฏกายให้เห็นเด่นชัดและการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อประชาชน
พล.ต.ท.ประจวบฯ ขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนาย ที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่และทุ่มเทสรรพกำลังอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้เทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนได้รับความสะดวกในการการเดินทาง ลดอุบัติเหตุและการสูญเสีย สังคมมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากอาชญากรรมทุกประเภท