“ผู้ช่วย ผบ.ตร.” ขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทาง กำชับหน่วยปฏิบัติทั่วประเทศแก้ไขปัญหาเด็กแว้น วางมาตรการเข้มช่วงเทศกาลสงกรานต์
วันนี้ (5 เม.ย.66) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ตระหนักและให้ความสำคัญในปัญหาการแข่งรถในทางของเด็กและเยาวชน (เด็กแว้น) อันเป็นปัญหาที่สร้างอุบัติเหตุบนท้องถนน เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนน และสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ประชาชนในชุมชนและสังคม จึงมุ่งหวังให้ ตร. แก้ไขปัญหาดังกล่าว
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้นำนโยบายรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติ โดยจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปข.ตร.) โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. เป็น ผอ.ศปข.ตร. และมี พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็น รอง ผอ.ศปข.ตร. เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทาง โดยใช้นโยบายบังคับใช้กฎหมาย ใน 4 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการก่อนเกิดเหตุ มาตรการขณะเกิดเหตุ มาตรการสอบสวนขยายผล และมาตรการเฝ้าระวังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวว่า วันนี้ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อน ศปข.ตร. และกำหนดแนวทางมาตรการการปฏิบัติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2566 โดยมีหน่วย บช.น., ภ.1 – 9 และ บก.ทล. พร้อมด้วยหัวหน้าสถานีตำรวจ 1,484 สถานีทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล รับฟังรายงานการบันทึกข้อมูลในระบบ CRIME และสถิติการดำเนินการ สถิติการร้องเรียนผ่านทางสายด่วน 191 และ 1599 พร้อมวิเคราะห์จัดกลุ่มความเสี่ยงของพื้นที่ สน./สภ. และสรุปผลการป้องกันปราบปราม ติดตามความคืบหน้าตลอดจนผลการวิจัยและผลประเมินโครงการวิจัยศึกษาและพัฒนาระบบการจัดการแก้ไขปัญหาการแข่งรถในทางอย่างยั่งยืน และความคืบหน้าการจ่ายเงินรางวัลเบาะแส เป็นต้น
พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวต่อว่า ได้กำหนดมาตรการการปฏิบัติและกำชับให้หน่วย บช.น., ภ.1 – 9 และ บก.ทล. นำไปขับเคลื่อนเพื่อป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยกำชับให้เพิ่มความเข้มในการปฏิบัติ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2566 ดังนี้
1.ให้ทุกหน่วยระดมกวาดล้างจับกุมและเพิ่มความเข้มในมาตรการป้องกันปราบปรามการแข่งรถในทาง ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น การรวมกลุ่มหรือมั่วสุมในลักษณะหรือโดยพฤติการณ์ที่น่าจะเป็นการนำไปสู่การแข่งรถในทาง ทั้งในช่วงก่อนควบคุมเข้มข้น (4–10 เม.ย.66) ช่วง 7 วัน ควบคุมเข้มข้น (11–17 เม.ย.66) และช่วงหลังควบคุมเข้มข้น (18–24 เม.ย.66) ตามแนวทางมาตรการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดอย่างเคร่งครัด
2.เร่งรัดกวดขันตรวจสอบการกระทำความผิดทุกช่องทาง และเพิ่มความเข้มในการระดมกวาดล้างจับกุม ทั้ง ONLINE เช่น คลิปการแข่งรถ, การขับรถที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย, ร้านค้าออนไลน์ ฯลฯ และ ON GROUND เพิ่มความเข้มออกกวดขันตรวจตราแหล่งมั่วสุม จุดนัดหมาย สถานศึกษา ร้านจำหน่ายอะไหล่ ร้านซ่อมรถ ร้านดัดแปลงสภาพรถ ร้านแต่งซิ่ง โรงงานและร้านขายท่อไอเสียที่ไม่ได้มาตรฐาน ตลอดจนเส้นทาง ถนนที่มีความเสี่ยงในพื้นที่ ฯลฯ ดำเนินการตามกฎหมายกับตัวการ และสอบสวนขยายผลไปยังผู้สนับสนุน เช่น ผู้ผลิต ครอบครอง จำหน่าย ประกอบ ดัดแปลง ยุยงส่งเสริม สนับสนุนการแข่งรถในทาง Admin page และกองเชียร์ กรณีสืบทราบหรือพบเห็นการรวมกลุ่มเพื่อแข่งรถในทาง ให้ สน./สภ. บูรณาการกำลังทุกฝ่ายให้ยุติกิจกรรมพร้อมติดตามจับกุมให้ได้โดยเร็ว
3.กรณีมีการชักชวนรวมกลุ่มมั่วสุมแข่งรถในทาง หรือออกทริปท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ให้ดำเนินการตามมาตรการที่ ตร. กำหนด ตั้งแต่พื้นที่ต้นทาง พื้นที่กลางทาง จนถึงพื้นที่ปลายทาง ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด เพื่อกวดขันวินัยจราจร ตรวจสอบและป้องปรามให้ครอบคลุม และให้หน่วยพื้นที่ต้นทางประชาสัมพันธ์กับ Admin Page ให้ระงับการดำเนินการดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนและประชาชนที่พักอยู่ริมทาง และลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ หากมีการรวมกลุ่มออกทริปท่องเที่ยวเกิดขึ้นแล้ว ให้ สน./สภ. ยุติกิจกรรมหรือติดตามจับกุมให้ได้โดยเร็ว หากเกี่ยวข้องในหลายพื้นที่ ให้บูรณาการข้อมูลและการปฏิบัติระหว่างพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
4.ให้ความสำคัญการรับแจ้งเหตุและร้องเรียนในทุกช่องทาง โดยให้ กก.สส.บก.น./ภ.จว. ร่วมกับงานสืบสวนของ สน./สภ. เร่งรัดตรวจสอบและดำเนินการ เน้นการสืบสวนหลังเกิดเหตุให้ได้ตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีทุกราย เพื่อป้องปรามไม่ให้กลับมากระทำความผิดอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับแจ้งเหตุทางศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกตรวจสอบทุกเหตุ แล้วรายงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ พร้อมทั้งให้ความสำคัญ กับการแสวงหาข้อมูลและเบาะแสจากเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่และช่องทางอื่นๆ ทุกช่องทาง และสืบสวนสอบสวนให้ปรากฏข้อเท็จจริงโดยละเอียดทุกกรณี
5.ในห้วงที่ผ่านมา พบว่าสถิติการรับแจ้งเหตุฯ ของบางหน่วย มีแนวโน้มสูงขึ้น ได้กำชับให้หน่วยทุกระดับ นำข้อมูลการรับแจ้งเหตุของศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191, 1599 และข้อมูลในระบบ CRIMES มาวิเคราะห์ เพื่อวางแผนและกำหนดมาตรการในการป้องกันปราบปรามเหตุให้เท่าทันต่อสถานการณ์ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และสืบสวนจับกุมให้ได้ทุกราย
6.ให้ผู้บังคับบัญชาสุ่มตรวจและทดสอบการปฏิบัติ กรณีเมื่อได้รับแจ้งเหตุแข่งรถในทาง ผ่านระบบการรับแจ้งเหตุ ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 และช่องทางอื่นๆ เพื่อทดสอบการดำเนินการทั้งระบบ เช่น การรับแจ้งและประสานงาน การเดินทางไปที่เกิดเหตุ การเข้าระงับเหตุและดำเนินคดี การรายงานผลการปฏิบัติ เพื่อกระตุ้น แก้ไขปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติ
7.ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบ กรณีผู้ให้ข้อมูลหรือเบาะแสที่สามารถนำไปสู่การจับกุมความผิดแข่งรถในทาง จะได้รับค่าตอบแทน รายละ 3,000 บาท โดยสามารถแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสได้ ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191, สายด่วน 1599 และ ศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร.
พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งหวังที่จะดำเนินการป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้บรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เพื่อให้เทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนได้รับความสะดวกในการการเดินทาง ลดอุบัติเหตุบนท้องถนนและความเดือดร้อนรำคาญของประชาชน ในชุมชนและสังคม ตลอดจนสร้างความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถ ใช้ถนน จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกสถานีทั่วประเทศ ทุ่มเทสรรพกำลังอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยให้แก่ประชาชนและสังคม