พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัย มิจฉาชีพสร้างเพจเฟซบุ๊ก และไลน์ของกรมการขนส่งทางบกปลอม แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หลอกลวงให้ประชาชนโอนเงินค่าทำใบอนุญาตขับขี่ และต่ออายุใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะ ดังนี้
ที่ผ่านมาจากการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบการรับแจ้งความออนไลน์ พบว่ามีผู้เสียหายจำนวนหลายรายถูกมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อเป็นค่าทำใบอนุญาตขับขี่ใหม่ และค่าต่ออายุใบอนุญาตขับขี่ที่สิ้นสุดการอนุญาตแล้ว ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก และไลน์ที่มิจฉาชีพสร้างปลอมขึ้นมาเพื่อให้คล้ายคลึงกับเพจเฟซบุ๊ก และไลน์ของกรมการขนส่งทางบกจริง โดยเพจปลอมดังกล่าวใช้บัญชีชื่อว่า “กรมการขนส่ง” ภายในเพจได้ใช้รูปภาพ และตราสัญลักษณ์ของกรมการขนส่งทางบก นำรูปภาพ และคัดลอกเนื้อหาจากเพจกรมการขนส่งทางบกจริงมาใช้หลอกลวงประชาชน โดยมีการประกาศเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปแอดไลน์ปลอมติดต่อกับเจ้าหน้าที่โดยตรง อ้างว่าสามารถต่ออายุใบอนุญาตขับขี่ได้ทันที ไม่ต้องรอคิวนาน นอกจากนี้ยังตั้งรูปภาพโปรไฟล์เป็นรูปของผู้บริหารกรมการขนส่งทางบก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถืออีกด้วย กระทั่งเมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อติดต่อไปทางไลน์กรมการขนส่งปลอมแล้ว มิจฉาชีพจะให้ส่งข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ เช่น ภาพถ่ายบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ รูปถ่าย และหลอกให้ชำระค่าบริการ ทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้ หรือแอบอ้างหน่วยงานราชการต่างๆ มาหลอกลวงประชาชน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบในด้านงานป้องกันปราบปราม ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ
ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันการติดต่อหน่วยงานต่างๆ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ระมัดระวังการปลอมแปลงของมิจฉาชีพ ตระหนักถึงการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลทางการเงิน ซึ่งมิจฉาชีพอาจใช้โอกาสหลอกเอาข้อมูลไปเเสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ชำระเงินผ่านช่องทางดังกล่าว ทั้งนี้ต้องไม่หลงเชื่อเพียงเพราะมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงาน แอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงานนั้นๆ หรือมีการยิงโฆษณา หรือมีชื่อเพจ หรือเว็บไซต์ที่คิดว่าน่าจะเป็นของหน่วยงานนั้นจริง
จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการหลีกเลี่ยงการเข้าสู่เพจเฟซบุ๊กปลอม และไลน์ของหน่วยงานปลอม ดังนี้
1.เพจเฟซบุ๊กจริงจะต้องมีเครื่องหมายยืนยันตัวตน (เครื่องหมายถูกในวงกลมสีฟ้า) หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม
2.เพจเฟซบุ๊กจริง จะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่อง รวมถึงมีจำนวนผู้ติดตามที่ไม่น้อยจนเกินไป
3.เพจเฟซบุ๊กปลอม หรือเลียนแบบ มักจะเพิ่งสร้างขึ้นได้ไม่นาน และมักจะใช้คำที่ใกล้หรือคล้ายคลึงกับเพจจริง ต้องสังเกตให้ดี
4.ระวัง LINE Official Account ปลอม โดยสังเกตบัญชีที่ผ่านการรับรองจะมีสัญลักษณ์โล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หากเป็นโล่สีเทาหรือไม่มีโล่เลยจะเป็นบัญชีทั่วไปยังไม่ได้ผ่านการรับรอง ต้องตรวจสอบยืนยันให้ดีเสียก่อน
5.อย่าเชื่อถือเพียงเพราะมีจำนวนสมาชิกมาก เพราะสามารถปลอมแปลงได้
6.พื้นหลัง LINE Official Account จริง จะแสดงบนพื้นหลีงสีขาวเท่านั้น
7.หากพบเจอบัญชีไลน์ปลอมให้ทำการกด Report หรือรายงานปัญหา ทันที
8.ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลทางการเงิน ผ่านสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยเด็ดขาด
9.ไม่โอนเงินไปยังบัญชีบุคคลธรรมดา เพราะอาจเป็นบัญชีที่ถูกรับจ้างเปิดขึ้นมาไว้เพื่อรับโอนเงินจากเหยื่อ
10.หากพบ หรือไม่แน่ใจว่าเป็นเพจ หรือไลน์ของหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ ให้ติดต่อไปยังหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง