จากกรณีในสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ภาพและข้อความเกี่ยวกับชายหนุ่มรายหนึ่ง ซึ่งมีบัตรประชาชนถึง 7 ใบ โดยแต่ละใบจะมีชื่อและนามสกุลไม่ซ้ำกัน แต่ใบหน้าเจ้าของบัตรประชาชนเป็นคนเดียวกัน และมีที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ต.ลาดหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ซึ่งจากกรณีดังกล่าวชาวบ้านได้มีการร้องเรียนไปยังกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้เร่งดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับการออกบัตรประชาชนดังกล่าว ว่ามีที่มาอย่างไร ตามที่ได้มีการเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าล่าสุดโดยการอำนวยการสั่งการของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.,พล.ต.ท.ยรรยง เวชโอสถ ผบช.ภ.4,พล.ต.ต.หัสชัย เรืองมาลัย รอง ผบช.ภ.4, พล.ต.ต.พิษณุ อุณหเสรี ผบก.ภ.จว.อุดรธานี,พล.ต.ต.ณัฐนนท์ ประชุม ผบก.สส.ภ.4,พ.ต.อ.พงศ์ฤทธิ์ คงสิริสมบัติ รอง ผบก.สส.ภ.4,พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิศมัย รอง ผบก.สส.ภ.4 มีรายละเอียดดังนี้
ข้อ 1 บุคคลตัวจริง ที่ปรากฏภาพใบหน้า ในบัตรประชาชนทั้ง 7 ใบ คือ นายภาคิน สุดประพันธ์ อายุ 32 ปี ที่อยู่บ้านเลขที่ 145 ม.1 ต.ลาดหญ้า อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งจากการสืบสวนทราบว่า นายภาคินฯได้เคยส่งภาพบัตรประชาชนตนไปกู้เงินออนไลน์ แต่หลังจากกลุ่มคนร้ายได้ภาพบัตรประชาชนของนายภาคินฯ ไปแล้วนั้น เชื่อว่าได้นำภาพบัตรประชาชนของนายภาคินฯ ดังกล่าว ไปทำการแก้ไขในส่วน ชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ให้ตรงกับ ชื่อ นามสกุล ของเจ้าของบัญชีธนาคารที่ไปจ้างเปิดไว้(บัญชีม้า) แต่คงส่วนภาพใบหน้านายภาคินฯ ไว้ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อ
ซึ่งรายชื่อของบุคคลอื่นทั้ง 7 ราย ที่ปรากฏ ชื่อ นามสกุล และ เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ประกอบภาพใบหน้าของนายภาคินฯ ได้แก่
1.นายนฤเบศร์ เอี่ยมสาย
2.นายชินดนัย สาระกัน
3.นายประทีป สุขประสบโภคา
4.นายชัยสิทธิ์ กรัญทิศ
5.นายชาญณรงค์ จันทรเสนา
6.นายพรพล สังข์สุวรรณ
7.นายพงศธร โมลาขาว
จากการสืบสวนสอบสวนพบว่า มีผู้เสียหาย ได้ถูกหลอกลวงให้ซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ แต่ไม่ได้สินค้า โดยคนร้ายได้ใช้บัญชีธนาคารของบุคคลดังกล่าวข้างต้น คือ นายชัยสิทธิ์ กรัญทิศ,นายชาญณรงค์ จันทรเสนา,นายพรพล สังข์สุวรรณ,นายพงศธร โมลาขาว โดยมีพฤติการณ์คือ ใช้ภาพถ่ายบัตรประชาชนของนายภาคินฯ ไปทำการเปลี่ยนแปลง ชื่อ นามสกุล และหรือ ประจำตัวประชาชน 13 หลัก โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการแก้ไขข้อมูลในภาพ ซึ่งไม่ได้มีการทำบัตรขึ้นมาใหม่ เพียงแต่แก้ไขชื่อ นามสกุล ภายในบัตรเพื่อให้ตรงกับ ชื่อเจ้าของบัญชีธนาคารที่ใช้รับโอนค่าสินค้า ก่อนจะนำไปหลอกขายสินค้าให้กับ ผู้เสียหายและประชาชนทั่วไป เมื่อผู้เสียหายพบว่า ชื่อในภาพบัตรประชาชน ตรงกับชื่อที่คนร้ายได้ส่งมาประกอบการซื้อขายสินค้า และตรงกับชื่อในบัญชีธนาคารที่โอนเงินค่าสินค้า ก็หลงเชื่อว่าเป็นเพจ ที่มีการจำหน่ายสินค้าจริง มีตัวตนจริงตามบัตรประชาชน จึงโอนเงินค่าสินค้าไป
ต่อมา ผู้เสียหายที่ถูกหลอกขายสินค้าออนไลน์ในพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ และ เลย จึงได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน จำนวน 4 คดี รายละเอียด ดังนี้
1.คดีอาญา สภ.คอนสาร จว.ชัยภูมิ ที่ 79/2566 ลงวันที่ 20 มี.ค.66 ข้อหา ฉ้อโกงประชาชน,พ.ร.บ.คอมฯ ม.14
2.คดีอาญา สภ.เมืองเลย ที่ 202/2566 ลงวันที่ 20 มี.ค.66 ข้อหา ฉ้อโกงประชาชน , พ.ร.บ.คอมฯ ม.14
3.คดีอาญา สภ.เมืองร้อยเอ็ด ที่ 261/2566 ลงวันที่ 20 มี.ค.66 ข้อหา ฉ้อโกงประชาชน
4.คดีอาญา สภ.เมืองขอนแก่น ที่ 983/2566 ลง 20มี.ค.66 ข้อหา ฉ้อโกงประชาชน,พ.ร.บ.คอมฯ ม.14 ผู้ต้องหา 2 ราย
จากการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม พบว่า นอกจากบุคคลที่มีรายชื่อทั้ง 7 ราย ที่ปรากฏตามข่าวข้างต้น แล้วยังพบว่ามีการกระทำผิดในรูปแบบเดียวกัน โดยการนำ ชื่อ นามสกุล และ เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ของบุคคลอื่น มาประกอบกับภาพถ่ายบัตรประชาชนของนายภาคิณฯ ซึ่งพิสูจน์ตัวบุคคลได้อีก 2 ราย คือ 1) นายฐิติกร ยอดศรี และ 2) นายอนิวัตติ์ ไชยคำ ซึ่งในกรณีนี้ผู้เสียหายในพื้นที่ จังหวัดมหาสารคาม ประจวบคีรีขันธ์ และ ลำพูน ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน อีกจำนวน 3 คดี ดังนี้
5.คดีอาญา สภ.เมืองมหาสารคาม ที่ 180/2566 ลงวันที่ 20 มี.ค.66 ข้อหา ฉ้อโกงประชาชน,พ.ร.บ.คอมฯ ม.14 ผู้ต้องหา 2 ราย
6.คดีอาญา สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ที่ 671/2565 ข้อหา ฉ้อโกงประชาชน,พ.ร.บ.คอมฯ ม.14
7.คดีอาญา สภ.นิคมอุตสาหกรรม จว.ลำพูน ที่ 978/2565 ข้อหา ฉ้อโกงประชาชน,พ.ร.บ.คอมฯ ม.14
ข้อ 2 สรุปการดำเนินคดีทั้ง 7 คดี (ตามข้อ 1)
สรุปการดำเนินคดีทั้ง 7 คดี ผู้ต้องหา 9 ราย
1) ออกหมายจับ 9 หมายจับ ผู้ต้องหา 8 ราย (นายอนิวัตติ์ ไชยคำ มี ๒ หมายจับ)
จับกุมผู้ต้องหาได้ 5 ราย 5 หมายจับ
อายัดตัว 1 ราย 2 หมายจับ (อายัดหมาย นายเดโช จีนนะ และ นายอนิวัตติ์ ไชยคำ )
หลบหนี 2 ราย 2 หมายจับ
2) แจ้งข้อกล่าวหา 1 ราย ผู้ต้องหา 1 ราย
ข้อ 3 กรณีกลุ่มผู้ซื้อขาย จัดหาบัญชีม้า ปรากฏจากการสืบสวนขยายผลถึงกลุ่มขบวนการซื้อขายบัญชีม้าในคดีนี้ พบว่ามีการกระทำอยู่ 2 รูปแบบ คือ
3.1 รูปแบบการซื้อขายบัญชีผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (ON LINE) โดยเจ้าของบัญชีม้าจะทำการเปิดบัญชีผ่านระบบออนไลน์ของธนาคาร จากนั้นก็จะส่งรหัสผ่านพร้อมเลขบัญชีให้กับนายหน้าผู้ซื้อหรือติดต่อกับเจ้าของบัญชีม้าเพื่อแลกกับค่าตอบแทน ซึ่งมีการเปิดกลุ่มสำหรับหาผู้จำหน่ายบัญชีม้าทั่วไป ก่อนจะนำบัญชีม้าไปเป็นบัญชีรับซื้อขายสินค้า หรือเกี่ยวข้องในการทำผิดกฎหมายอื่น
3.2 รูปแบบการใช้บุคคลรวบรวมบัญชีม้า (ON SITE) กรณีนี้เจ้าของบัญชีม้าได้มีการเปิดบัญชีผ่านระบบออนไลน์ หรือเปิดกับธนาคาร โดยตรง ก่อนจะส่งมอบรหัสบัญชี หรือสมุดบัญชี พร้อมบัตรเอทีเอ็มให้กับตัวแทน ซึ่งส่วนมากจะรู้จักกัน ก่อนที่นายหน้าจะรวบรวมส่งให้กับกลุ่มมิจฉาชีพเพื่อนำไปใช้ในการกระทำความผิดต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ทำการสืบสวนและจับกุมตัวบุคคลที่มีหน้าที่รวบรวมบัญชีได้ คือ
1) นายปรินทร์ ขอสงวนนามสกุล อายุ 28 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.กาฬสินธุ์ ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันกระทำการโดยทุจริตหรือหลอกลวงนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ซึ่งในส่วนของผู้ร่วมเครือข่ายรายอื่นอยู่ระหว่างสืบสวนขยายผล และตรวจสอบเส้นทางการเงินหาความเชื่อมโยงผู้ที่ได้รวบรวม จัดหาบัญชีเพิ่มเติม
ข้อ 4 จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของบัญชีของบุคคลที่มีรายชื่อปรากฏในคดี พบว่ามีการควบคุมบัญชีม้าโดยมีการใช้การควบคุมมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อว่าเป็นกลุ่มเดียวกันกับขบวนการแก็งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นรูปแบบการการหลอกลวงเพื่อให้ได้ทรัพย์สินอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นจำนวนความเสียหายจำนวนน้อยทำให้ผู้เสียหายส่วนมากไม่ต้องการแจ้งความดำเนินคดี ทำให้กลุ่มคนร้ายมีการสร้างเพจเพื่อขึ้นมาหลอกลวงขายสินค้าจำนวนมาก
ข้อ 5 ฝากเตือนไปยังผู้มีพฤติกรรมเปิดบัญชี หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝากหรือที่เรียกว่าบัญชีม้า ปัจจุบันได้มีพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.๒๕๖๖ ซึ่งถูกตราขึ้นเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้สุจริต ซึ่งถูกหลอกลวงจนสูญเสียไปซึ่งทรัพย์สิน โดยผ่านทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งแต่ละวันมีผู้ถูกหลอกลวงจำนวนมากและมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก สาระสำคัญ มีบทลงโทษเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก หรือ ผู้รับจ้างเปิดบัญชีม้า ตามความในมาตรา 9 ความดังนี้
มาตรา 9 ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้องหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน ทั้งนี้โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนผู้เป็นธุระจัดหา เพื่อให้มีการซื้อขาย หรือเช่ายืม บัญชีม้า หรือหมายเลขโทรศัพท์ ก็มีบทกำหนดโทษในมาตรา 10 และ 11 ความดังนี้
มาตรา 10 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 11 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปีหรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ