ตามที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ได้กำหนดเป้าหมายหลักของการปฏิรูปประเทศ พร้อมทั้งได้กำหนดหลักการและแนวทางการปฏิรูปประเทศ รวมถึงมีพระราชบัญญัติ แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้าง วิธีการ และกระบวนการ หรือกฎระเบียบที่สำคัญเพื่อให้การดำเนินงานของทุกภาคส่วนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุผลอันพึงประสงค์ตามรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้วุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ นั้น
โดยเมื่อวันที่ 10 ก.ย.62 ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติตั้งแต่งคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภาขึ้น โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามนโยบายด้านกฎหมาย
การบริหารงานยุติธรรม กระบวนการยุติธรรม การตำรวจ อัยการ และราชทัณฑ์ การปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ป้องกัน และรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การพัฒนากลไกและวิธีการปฏิบัติงานกิจการตำรวจให้มีประสิทธิภาพ ร่วมถึงการพิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
โดยในส่วนของคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในเรื่องของการแจ้งความร้องทุกข์ต่างท้องที่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาแจ้งความ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงกำหนดให้มีการจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ
ในหัวเรื่อง “การรับแจ้งความร้องทุกข์ต่างท้องที่” ขึ้น ในวันอังคาร ที่ 14 มี.ค.66 ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น.
ณ ห้องศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาฯ พร้อมด้วย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมพิธีฯ
การสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการ
ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และร่วมรับฟังพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ
การพัฒนาและขับเคลื่อนผลักดันให้การรับแจ้งความร้องทุกข์ต่างท้องที่ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล
รวมไปถึงการรับทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการด้านต่างๆ โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ รวมทั้งสิ้นจำนวน 200 คน ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา และข้าราชการตำรวจในระดับผู้กำกับการสถานีตำรวจ หัวหน้าพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวน
ในการนี้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นวิทยากรพิเศษในการปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อเรื่อง “การรับแจ้งความร้องทุกข์ต่างท้องที่” อีกด้วย