พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัย กรณีการหลอกลวงขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ระวังเจอเพจในเฟซบุ๊กปลอม ลอกเลียนแบบของเพจในเฟซบุ๊กจริง ดังนี้
ที่ผ่านมาได้รับรายงานจากกองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) พบว่ามีประชาชนตกเป็นเหยื่อจากการซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้าเฉลี่ยกว่า 1,900 รายต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่สินค้าที่มักถูกหลอกลวง ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ ผลไม้ บัตรคอนเสิร์ต รถจักรยานยนต์มือสอง และปลาแซลมอน เป็นต้น โดยภัยจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์มีหลากหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่การซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า หรือซื้อสินค้าแต่ได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือได้ไม่ตรงปก หรือซื้อสินค้าแต่ได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ไปจนถึงการใช้หลักฐานการโอนเงินปลอมเพื่อหลอกลวงผู้ขาย เป็นต้น โดยส่วนใหญ่มิจฉาชีพมักจะสร้างความน่าเชื่อถือของร้านค้า การการันตีสินค้า การรีวิวสินค้าปลอม รวมไปถึงการโฆษณาสรรพคุณเกินจริง นอกจากนี้ยังมีการสร้างเพจในเฟซบุ๊กปลอมตั้งชื่อลอกเลียนแบบให้เหมือน หรือคล้ายคลึงกับเพจในเฟซบุ๊กที่มีการซื้อขายสินค้าจริง โดยการคัดลอกรูปภาพสินค้า และเนื้อหาจากเพจจริงมาใช้ เมื่อหลอกลวงผู้เสียหายได้หลายรายก็จะเปลี่ยนชื่อเพจ หรือสินค้าไปเรื่อยๆ หรือสร้างเพจปลอมขึ้นมาใหม่ ยกตัวอย่างเช่น มีผู้เสียหายถูกหลอกลวงซื้อโทรศัพท์มือถือโทรศัพท์ซิมเน็ตรายปี ผ่านเพจปลอม Moblie2you ซึ่งเพจจริงคือ Mobile2youmbk หรือกรณีปลอมเพจหลายเพจขายทุเรียนของดาราท่านหนึ่ง เป็นต้น
ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานในด้านการป้องกันปราบปรามได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง
ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา บช.สอท. ได้เร่งปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง มีปฏิบัติการสำคัญเมื่อต้นเดือน มี.ค.66 ระดมตรวจค้นกว่า 40 จุด ทั่วประเทศภายใต้ยุทธการ “ ปิด Job – Shop ทิพย์ ” หลอกขายสินค้าและบริการผ่านโลกออนไลน์ มีประชาชนหลายรายได้ความเสียหายหลายล้านบาท สามารถทำการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับกว่า 30 ราย ตรวจยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ถึงแม้จะมีข้อดีหลายๆ ประการ ไม่ว่าจะสะดวกสบาย มีให้เลือกหลากหลาย สามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าแต่ละแหล่งได้ ติดตามโปรโมชันต่างๆ ได้ ที่สำคัญสามารถสั่งซื้อได้ตลอดเวลา แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนโดยมิชอบ
จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ พร้อมแนวทางการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้
1.หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้ามีมูลค่าสูง ควรซื้อจากร้านค้าที่เป็นทางการเท่านั้น
2.ระมัดระวังการซื้อสินค้าราคาถูก จำไว้ว่า ของฟรีไม่มีในโลก ของถูกต้องถูกอย่างมีเหตุผล
3.หากซื้อสินค้าผ่านเพจในเฟซบุ๊ก ต้องระมัดระวังเพจปลอม หรือเพจลอกเลียนแบบ โดยเพจจริงควรจะมีผู้ติดตามสูง มีการสร้างขึ้นมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และมีรายละเอียดการติดต่อร้านชัดเจน อย่างน้อยสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปสอบถามได้
4.ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศหรือไม่
5.ตรวจสอบว่ามีสินค้าจริงหรือไม่ โดยขอดูภาพหลายๆ มุม สอบถามรายละเอียดสินค้าที่เกี่ยวข้อง ผลิตจากที่ใด เงื่อนไขการรับประกัน วิธีการใช้งาน เป็นต้น
6.ตรวจสอบการรีวิวสินค้า ผู้ที่เคยสั่งซื้อได้รับสินค้าหรือไม่ คุณภาพสินค้าเป็นอย่างไร ระวังการรีวิวปลอม ควรตรวจสอบตัวตนผู้รีวิวว่าเป็นอวตารหรือไม่
6.ก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า ให้ตรวจสอบประวัติของร้าน และชื่อหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ Google, Blacklistseller เป็นต้น
7.เมื่อชำระเงินแล้ว ควรติดตามการจัดส่งจากผู้ซื้อ หรือขอดูหลักฐานการส่งสินค้า เพื่อยืนยันว่าส่งสินค้าให้จริง
8.กรณีการจ่ายเงินปลายทาง ควรเปิดตรวจสอบสินค้าก่อนชำระเงิน ตรวจสอบว่าชำรุด ตรงกับที่สั่งหรือไม่
9.กดรายงานบัญชี หรือเพจในเฟซบุ๊กปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อ
10.หากสินค้ามีปัญหาให้รวบรวมพยานหลักฐาน เช่น ข้อความการสนทนา หลักฐานการชำระเงิน คำสั่งซื้อสินค้า แล้วติดต่อกับผู้ขายให้แก้ไขปัญหา ส่งสินค้าคืน หรือเคลมสินค้าภายในระยะเวลาที่กำหนด