พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ร่วมประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. นำเสนอแนวทางบูรณาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) แบบยั่งยืน
วันนี้ (10 มี.ค.66) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง (ศพดส.ตร.) ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ครั้งที่ 1/2566 ณ โรงแรมดุสิตธานี พัทยา จ.ชลบุรี โดยมี พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. เป็นประธานการประชุม และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมประกอบด้วย กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ในการประชุมครั้งนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้นำเสนอเกี่ยวกับการดำเนินการปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายในหลายมิติ ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายกับเรือประมงพาณิชย์จำนวน 27 ลำ ที่ลักลอบทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างการดำเนินการสอบสวน และการตรวจสอบกรณีเรือประมงที่ใช้อวนล้อมจับปลากะตักจำนวน 52 ลำ ซึ่งการดำเนินการจำเป็นจะต้องบูรณาการร่วมกับ ศรชล และกองทัพเรือ ในการใช้เครื่องมือพิเศษและกำลังพลเข้าดำเนินการตามกฎหมาย รวมไปถึงการดำเนินการล่าสุด กรณีตรวจพบเรือประมงสัญชาติเกาหลีชื่อ Sun Flower 7 ขนปลาทูน่าจำนวน 4,000 ตัน มาขึ้นท่าเพื่อส่งให้โรงงานปลากระป๋อง ซึ่งมีพฤติการณ์ในการทำประมงผิดกฎหมายโดยการเก็บทุ่นลอยน้ำสำหรับเป็นแพล่อปลาในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก ในการดูแลของคณะกรรมาธิการประมงแปซิฟิกตะวันตกและแปซิฟิกกลาง (WCPFC) โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งทางการไทยได้แสดงออกอย่างชัดเจนในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย โดยการไม่อนุญาตให้นำปลาที่ได้จากการทำประมงผิดกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร และได้ผลักดันเรือออกจากน่านน้ำไป ซึ่งในเรื่องนี้ จำเป็นจะต้องมีการกำหนดมาตรการในระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาการรับสินค้าสัตว์น้ำที่ได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย โดยคำนึงถึงภาพลักษณ์ของประเทศ และผลกระทบต่อธุรกิจการนำเข้าส่งออกสัตว์น้ำของประเทศไทยต่อไป
นอกจากนี้ยังได้มีการนำเสนอความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากชาวประมงพื้นบ้านในประเด็นการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ดำเนินการเพื่อรับทราบปัญหาและข้อเสนอแนะโดยตรงจากพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 2 ครั้ง ที่กรมประมง และสมาคมประมงพื้นบ้านในถุ้ง จ.นครศรีธรรมราช และมีกำหนดจะจัดขึ้นอีก 3 ครั้ง ในพื้นที่ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ และปัตตานี จากนั้นจะนำข้อเสนอแนะทั้งหมดมาสรุปและนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติต่อไป รวมทั้งความคืบหน้าของการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสหรัฐอเมริการในการปราบปรามการค้ามนุษย์ในภาคประมง ซึ่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ประสานความร่วมมือกับ ศรชล. กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมการจัดหางาน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อปรับปรุงคู่มือการตรวจเรือให้มีความทันสมัยและถูกต้องตามหลักสากล รวมทั้งมีการจัดการฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (PIPO) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบ้ติหน้าที่และบังคับใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้อง จากการพัฒนาดังกล่าวทำให้ปัญหาแรงงานบังคับในภาคประมง และแรงงานประมงที่มีการแจ้งสูญหายในทะเลมีจำนวนลดลงเป็นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยในปี 63 มีแจ้งแรงงานประมงสูญหายจำนวน 121 ราย ปี 64 จำนวน 107 ราย และปี 65 ลดลงเหลือเพียง 78 ราย แสดงให้เห็นว่า หลังจากที่ได้พัฒนาศักยภาพ เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจมากขึ้นแล้ว สามารถช่วยให้จำนวนลูกเรือประมงตกน้ำสูญหายลดลงมากถึงร้อยละ 30
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายนั้น จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อปรับปรุงแก้ไขวิธีการปฏิบัติให้มีความทันสมัยและตอบโจทย์ของการแก้ไขปัญหาในมาตรฐานระดับชาติ รวมทั้งแสดงท่าทีของประเทศไทยโดยชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการทำประมงผิดกฎหมายอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นจึงได้นำเสนอที่ประชุมให้ร่วมกันกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวเพื่อให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงวิถีชีวิตของชาวประมงและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไป