พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้ม ผลักดันเรือประมง IUU ขนปลาทูน่ากว่า 250 ล้านบาท ออกนอกราชอาณาจักร หลังพบทำประมงผิดกฎหมาย
ตามนโยบายของรัฐบาล มีเป้าหมายที่จะให้ประเทศไทยสามารถคงสถานะธงเขียวจากสหภาพยุโรปไว้ให้ได้ จากการที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ในฐานะ ประธานกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ประธานคณะทำงานวิเคราะห์สถานการณ์การตรวจ ติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมง และแรงงานในภาคประมง ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่ลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) รวมทั้งแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงโดยการคัดกรองและร่วมบูรณาการในการดูแลสภาพการทำงานของแรงงานประมงให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศกรณีดังกล่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/ประธานกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. /กรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ให้มีการจัดการประชุมร่วมกับผู้แทนชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวสามารถบังคับใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งกับประเทศชาติ และพี่น้องชาวประมงไทยให้มากที่สุด
เมื่อวันที่ 24 ม.ค.66 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้รับแจ้งข้อมูลว่า มีเรือประมงชื่อ Sun Flower 7 สัญชาติเกาหลี เข้าเทียบท่าเรือกรุงเทพ ถนนราษฎร์บูรณะ เพื่อนำเข้าปลาทูน่าน้ำหนักกว่า 4,000 ตัน รวมมูลค่ากว่า 250 ล้านบาท ที่ได้จากการทำประมงขึ้นที่ท่าดังกล่าว นำเข้าสู่อุตสาหกรรมแปรรูปปลากระป๋อง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบกลับไปยังต้นทางที่เรือประมงได้ไปทำการประมงมานั้น โดยตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องทุกประเภท เส้นทางการเดินเรือ ตลอดจนร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจาก มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) องค์กรภาคประชาสังคมระดับนานาชาติ สืบสวนหาข้อมูลจากคนประจำเรือที่ท่าเทียบเรือ จึงได้ทราบว่า เรือประมงดังกล่าวได้ไปทำประมงในเขตพื้นที่น่านน้ำของคณะกรรมการการประมงแปซิฟิกตะวันตกและแปซิฟิกกลาง (WCPFC) และเขตน่านน้ำของสาธารณรัฐคิริบาสโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีพฤติการณ์ต้องสงสัยในการทำประมงผิดกฎหมายด้วยวิธีการเก็บทุ่นลอยน้ำที่ใช้สำหรับแพล่อสัตว์น้ำ
จากกรณีดังกล่าว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้ประสานให้กรมประมงออกหนังสือแจ้งไม่อนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงผิดกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งออกคำสั่งให้เรือประมง Sun Flower 7 เดินทางออกจากราชอาณาจักร ซึ่งเมื่อวานนี้ (8 มี.ค.66) เวลาประมาณ 17.00 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ ร่วมกับ ศรชล กรมเจ้าท่า และกรมประมง เข้าตรวจสอบเรือประมงดังกล่าว พร้อมทั้งเร่งดำเนินการทางเอกสารเพื่อให้เรือดังกล่าวพร้อมเดินทางออกจากราชอาณาจักรโดยทันที รวมทั้งตรวจสอบเส้นทางการเดินเรือจากระบบติดตาม AIS เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เรือประมงดังกล่าวจะเดินทางออกจากราชอาณาจักรจริง
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ปฏิบัติการครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ได้ทราบข้อมูลจากการตรวจสอบการนำเข้าสัตว์น้ำของเรือประมงดังกล่าวจนทราบว่า มีการลักลอบทำประมงผิดกฎหมายในเขตน่านน้ำต่างประเทศ ก่อนจะนำสัตว์น้ำมาขึ้นฝั่งที่ประเทศไทย ดังนั้นเมื่อทราบดังกล่าวแล้ว ทางเราต้องรีบดำเนินการห้ามน้ำสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศ เพื่อมิให้เป็นการสนับสนุนการกระทำผิด รวมทั้งจะต้องออกคำสั่งให้เรือดังกล่าวเดินทางออกจากราชอาณาจักรในทันที โดยได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้บูรณาการร่วมกันในการตรวจสอบเรือประมงดังกล่าว รวมทั้งดำเนินการให้แน่ใจว่า จะไม่มีการแอบลักลอบนำสัตว์น้ำดังกล่าวขึ้นที่ท่าเรืออื่นใดในประเทศไทยได้อีก จึงขอเตือนไปยังภาคอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำต่างๆ ขอให้ตรวจสอบที่มาของสัตว์น้ำที่จะนำมาประกอบผลผลิตให้มั่นใจว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย ถือเป็นความรับผิดชอบต่อประเทศเนื่องจากอุตสาหกรรมนำเข้าสัตว์น้ำในต่างประเทศล้วนให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว เพื่อเป็นการแสดงเจตนาโดยชัดเจนว่า ประเทศไทยไม่สนับสนุนการทำประมงผิดกฎหมายอย่างสิ้นเชิง