ตร.ไซเบอร์ แถลงผลการปฏิบัติการ “ปิดJOB -SHOPทิพย์” หลอกขายสินค้าและบริการผ่านโลกออนไลน์

ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) แถลงผลการปฏิบัติการตามยุทธการ “ปิดJOB -SHOPทิพย์” หลอกขายสินค้าและบริการผ่านโลกออนไลน์

ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบในด้านงานป้องกันปราบปราม ได้ให้ความสำคัญและมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งมาตราการในการป้องกันและปราบปรามเชิงรุกต่อการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่องและจริงจัง พร้อมสร้างการรับรู้แนวทางการป้องกันให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงได้กำชับสั่งการให้กองบังคับการในสังกัด เร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนปราบปรามการจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย  ซึ่งที่ผ่านมาพนักงานสอบสวน บช.สอท. ได้รับแจ้งความร้องทุกข์จากผู้เสียหายจำนวนมากผ่านระบบการรับแจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com ว่าถูกมิจฉาชีพหลอกลวงซื้อขายสินค้าและการบริการ รวมถึงการร่วมลงทุนในรูปแบบต่างๆ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จึงได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลผู้เสียหายที่ถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงซื้อขายสินค้าและการบริการ โดยสามารถแบ่งเป็น 14 กลุ่มคดี แยกเป็น 4 ประเภท คือ การหลอกลวงซื้อขายสินค้าอุปโภค-บริโภค การหลอกลวงซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การหลอกลวงร่วมลงทุนธุรกิจสกุลเงินดิจิตอลและการลงทุนรูปแบบต่างๆ  การหลอกลวงซื้อขายบัตรกำนัลการบริการการท่องเที่ยวและรับจ้างทวงหนี้ ฯลฯ โดยมีประชาชนกว่า 500 ราย ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพในลักษณะข้างต้นซึ่งมีความเสียหายตั้งแต่หลักร้อยบาท จนถึงหลักล้านบาท ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 35 ล้านบาท การกระทำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชน และโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน

ชุดสืบสวนสอบสวนจึงได้เร่งรวบรวมพยานหลักฐานและตรวจสอบเส้นทางการเงินขออนุมัติศาลออกหมายจับกลุ่มผู้กระทำความผิด ได้จำนวนรวม 34 หมายจับ ซึ่งรวมถึงตัวการในขบวนการและบัญชีม้าที่ร่วมกระทำผิด

 ต่อมาในระหว่างวันที่ 3 – 7 มีนาคม 2566 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ระดมปิดล้อมตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับกลุ่มมิจฉาชีพที่หลอกลวงซื้อขายสินค้าและบริการ รวมถึงการหลอกลวงให้ร่วมลงทุนในรูปแบบต่างๆ ตามยุทธการ “ปิดJOB -SHOPทิพย์” จำนวนกว่า 40 จุดเป้าหมายทั่วประเทศ โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้รวม 26 ราย ตลอดจนตรวจยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำความผิด พร้อมทั้งอายัดเงินในบัญชีธนาคารของผู้กระทำความผิดและบัญชีม้าที่เกี่ยวข้อง  ส่วนผู้ต้องหาตามหมายจับที่เหลืออยู่ระหว่างเร่งรัดติดตามจับกุมตัวมาเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะได้ยื่นเรื่องต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเสนอให้ศาลมีคำสั่งปิดกั้นเพจหรือเว็บไซต์ของกลุ่มมิจฉาชีพที่มีการหลอกลวงประชาชนอีกส่วนหนึ่ง

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนจากภัยในสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ที่ผ่านมาพบว่าการกระทำความผิดในลักษณะการหลอกลวงขายสินและบริการ การร่วมลงทุนในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง วิธีการที่มิจฉาชีพนำมาใช้ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมมากนัก เพียงแต่เปลี่ยนเรื่องราว ตัวตน ไปตามกระแสความสนใจของสังคมในปัจจุบัน โดยอาศัยความไม่รู้ และความโลภของประชาชนเป็นเครื่องมือ ซึ่งในปัจจุบันมิจฉาชีพสามารถเข้าถึงเหยื่อได้ง่ายมากยิ่งขึ้น  ทำให้การหลอกลวงสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบและหลายช่องทางรวมไปถึงมิจฉาชีพก็มักจะสร้างความน่าเชื่อถือปิดช่องโหว่มากขึ้น เนื่องจากประชาชนเริ่มรู้เท่าทันการเตือนภัยออนไลน์ของหน่วยงานจากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ ขอฝากเตือนภัยและประชาสัมพันธ์แนวทางการป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ดังนี้

1.ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบุคคลหรือบริษัท ว่ามีการเว็ปไซต์หรือจดทะเบียนนิติบุคคลมานานแล้วหรือไม่ 

2.อย่าหลงเชื่อเพียงเพราะการลดราคา การโฆษณา การจัดโปรโมชั่นเกินจริง ควรศึกษารายละเอียดและตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ดีเสียก่อน

3.หลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ฟังดูดีเกินไป ลงทุนน้อย ได้ผลตอบแทนสูง ในเวลาอันรวดเร็ว มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน

4.ตรวจสอบที่มาที่ไปของการลงทุน หรือสินค้าให้ดีก่อนการลงทุน

5.หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มธุรกิจที่ไม่แน่ใจ เพราะอาจถูกหว่านล้อมให้ร่วมลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่

6.เก็บหลักฐานต่างๆไม่ว่าจะเป็น หลักฐานทางการเงิน สัญญา เอกสารต่างๆ เผื่อเกิดปัญหาในภายหลัง

ฝากเตือนผู้ที่คิดตั้งตนเป็นมิจฉาชีพหลอกลวงขายสินค้าและบริการ รวมถึงการหลอกลวงชักชวนลงทุนในรูปแบบต่างๆ บนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นความผิดเข้าข่ายฐาน “ฉ้อโกงประชาชน” ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐาน “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมกันนี้ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนยังเป็นความผิดมูลฐานหนึ่งในกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งอาจถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้เช่นกัน และหากมีบุคคลที่ร่วมขบวนการที่เข้าช่วยเหลือหรือสนับสนุน จำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินหรือถือครองทรัพย์สินแทนผู้กระทำผิด ตามมูลฐานข้างต้นก็อาจจะมีความผิดและถูกดำเนินคดีร่วมด้วยเช่นกัน

หากประชาชนมีข้อสงสัย หรือได้รับความเดือดร้อน สามารถแจ้งข้อมูลและติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วน 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 และ www.thaipoliceonline.com ได้ตลอด 24 ชั่วโมง