รองโฆษกฯ เตือนภัยโจรออนไลน์หลอกลวงเด็ก “ส่งรูปโป๊แลกไอเทมในเกมส์ออนไลน์” เตือนเยาวชน อย่าส่งรูปโป๊เปลือยให้คนอื่น ย้ำ ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด “ไม่ปล่อยเด็กไว้กับมือถือ”
วันนี้ (26 ก.พ.66) เวลา 08.00 น. ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.ท.หญิง ดร.ณพวรรณ ปัญญา รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน อย่าส่งรูปภาพโป๊เปลือยไม่เหมาะสมให้กับบุคคลอื่น หลังมีเครือข่ายมิจฉาชีพใช้วิธีหลอกลวงให้เด็กและเยาวชนถ่ายภาพและคลิปวิดีโอลามกอนาจารแลกไอเทมเกมออนไลน์
พ.ต.ท.หญิง ดร.ณพวรรณฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ได้แพร่ระบาดและมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งเยาวชนถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เป็นเป้าหมายของอาชญากรรมออนไลน์ ดังเช่นกรณีนี้มีการหลอกลวงเพื่อได้มาซึ่งสื่อลามกอนาจารเพื่อหาประโยชน์ในทางเพศจากเด็กและเยาวชน โดยคลิปหรือภาพโป๊เปลือยของเด็กจะถูกนำไปเผยแพร่ในกลุ่มของบุคคลที่มีพฤติกรรม “ใคร่เด็ก” (Pedophilia) ซึ่งเป็นอาการทางจิตที่ผิดปกติที่แสดงออกว่าชอบหรือรักเด็ก แต่เป็นความรักที่เกินขอบเขต จนนำไปสู่การนำเด็กมาเป็นเหยื่อบำบัดความใคร่ทางเพศ การถูกแบล็กเมลทางเพศ (Cyber Sextortion) คือ การที่เด็กถูกข่มขู่เรียกเงินหรือแสวงหาผลประโยชน์อย่างอื่น โดยผู้กระทำใช้ภาพหรือวีดีโอทางเพศของเด็ก
นอกจากนี้ การที่เด็กและเยาวชนเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป อาจทำให้เด็กถูกติดตามคุกคามออนไลน์ (Cyber Stalking) ถูกติดต่อสื่อสารที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัว คุกคาม ไม่ปลอดภัย หรือไม่สบายใจ การถูกล่อลวงให้พูดคุยเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม (Cyber Sexting) หรืออาจเป็นการนำไปสู่การถูกล่อลวงทางเพศ (Cyber Grooming) การถูกผู้ใหญ่ติดต่อพูดคุยสร้างสัมพันธ์ให้เกิดความไว้วางใจเพื่อเป้าหมายการละเมิดทางเพศเด็ก
รองโฆษกฯ ยังขอแจ้งเตือนผู้ปกครองที่มีพฤติกรรม Sharenting ชอบแชร์ภาพ วิดีโอ เช็คอิน เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเด็กและเยาวชนมากเกินไป อาจเป็นการเปิดโอกาสให้มิจฉาชีพเข้าถึงตัวบุตรหลานได้ง่าย เสี่ยงตกเป็นเหยื่อภัยออนไลน์ เช่น การถูกขโมยตัวตน (Identity Theft) นอกจากนี้ ยังย้ำเตือนว่าอย่าเผยแพร่ภาพเด็กที่แต่งตัวไม่มิดชิด หรือมีลักษณะท่าทางที่ไม่เหมาะสม เพราะภาพของบุตรหลานอาจถูกนำไปใช้ในกิจกรรมทางเพศ สร้างผลกระทางจิตใจต่อเด็กเมื่อเติบโต
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอแนะนำผู้ปกครองถึงวิธีป้องกันไม่ให้บุตรหลานตกเป็นเหยื่อของภัยออนไลน์ ดังนี้
1. อย่าเลี้ยงลูกด้วยมือถือ : ไม่ปล่อยเด็กเล่นมือถือตามลำพัง สอดส่องดูแลการใช้โซเชียลมีเดียของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะการใช้สื่อโซเซียล การพูดคุยติดต่อสื่อสารกับคนแปลกหน้าผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ การเล่นเกมส์ออนไลน์ การโพสต์รูปภาพคลิปวีดีโอในสื่อออนไลน์ พยายามพูดคุยกับบุตรหลานเพื่อทราบความสนใจและสถานการณ์ความเสี่ยงที่ตกเป็นเหยื่อ
2. อย่าโพสต์รูปโป๊ของเด็ก : ไม่เผยแพร่รูปภาพหรือคลิปวีดีโอโป๊เปลือยของเด็ก หรือรูปภาพหรือคลิปวีดีโอในลักษณะที่ไม่เหมาะสม และไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเด็ก กิจวัตรประจำวัน สถานที่อยู่ สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือ โรงเรียน มากเกินไป
3. สร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ : สอนให้บุตรหลานมีทักษะรู้เท่าทันสื่อ จัดการตัวตนและชื่อเสียง รักษาความเป็นส่วนตัว สอนให้เด็กเข้าใจและระมัดระวังบุคคลที่พยายามเข้าใกล้ด้วยการตีสนิท หลอกล่อ ให้รางวัล ให้ขนม ให้เงินเพื่อให้เด็กเชื่อใจ และสอนให้เด็กเข้าใจรูปแบบพฤติกรรมของคนแปลกหน้าที่ควรหลีกเลี่ยงและแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ
รองโฆษกฯ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ ทั้งนี้ พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้แน่นย้ำให้ทุกหน่วยให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็กในลักษณะต่างๆ และเร่งให้ความรู้เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีแก่เยาวชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ผอ.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ สืบสวนขยายผลจับกุมตัวผู้กระทำความผิด พร้อมติดตามและเฝ้าระวังการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่อาจเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศกับเด็กและสตรี หากประชาชนมีเบาะแสของผู้กระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) 1191 หรือเพจเฟซบุ๊ก “กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์” หรือ 191 และ 1599