พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอเรียนประชาสัมพันธ์เตือนภัยระวังตกเป็นเหยื่อ Ransomware หรือมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ดังนี้
ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่ในอีกมุมหนึ่งมิจฉาชีพก็พัฒนาการหลอกลวงในรูปแบบใหม่ๆ และซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเช่นกัน Ransomware หรือที่เรียกกันว่า มัลแวร์เรียกค่าไถ่ เป็นมัลแวร์ประเภทหนึ่งที่จะเข้ามาล็อกข้อมูลผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นไฟล์เอกสาร รูปภาพ วิดีโอ จนทำให้ไม่สามารถเปิดไฟล์ใดๆ ได้ โดยหากต้องการกู้ข้อมูลคืนมา จะต้องจ่ายเงินค่าไถ่ตามที่ผู้โจมตี หรือมิจฉาชีพเรียกร้อง จำนวนเงินค่าไถ่ก็จะแตกต่างกันไป และการชำระเงินจะต้องชำระผ่านระบบที่มีความยากต่อการตรวจสอบ หรือติดตาม เช่น การโอนเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์, การชำระเงินออนไลน์แบบเติมเงินโดยใช้บัตรกำนัล (Paysafecard), เงินสกุลดิจิทัล เป็นต้น
ในช่วงที่ผ่านมาพนักงานสอบสวน บช.สอท. ได้รับแจ้งความร้องทุกข์จากผู้เสียหายว่า บริษัทของผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากการถูมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) ถูกล็อกไฟล์ข้อมูล ไม่สามารถเข้าถึงและใช้งานได้ มีการเรียกค่าไถ่เป็นบิตคอยน์ (Bitcoin) มูลค่าหลายล้านบาท กรณีดังกล่าว บช.สอท. ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้ทำการตรวจสอบและวิเคราะห์ในเบื้องต้นพบว่า คอมพิวเตอร์บริษัทของผู้เสียหายถูกโจมตีด้วย Faust Virus หรือ Ransomware ซึ่งได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อป้องกันไม่ให้เหยื่อเข้าถึงข้อมูลของตนเอง โดยแผนประทุษกรรมของคนร้ายจะ สร้างมัลแวร์ที่มีลักษณะการทำงานแบบเข้ารหัส หรือล็อกไฟล์ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์เอกสาร รูปภาพ วิดีโอ ผู้ใช้งานจะไม่สามารถเปิดไฟล์ได้ จนกว่าจะได้รับรหัส หรือคีย์ที่ใช้ในการปลดล็อกไฟล์
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวน่าจะมาจากช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแฝงมาในรูปแบบเอกสารแนบมากับอีเมล โดยการสร้างเว็บไซต์ปลอม หรืออีเมลปลอม แล้วส่งข้อมูลมาในรูปเอกสารที่ใช้ไฟล์ .doc หรือ .xls แต่ความจริงคือเป็นไฟล์ “.doc .exe ” หรือแฝงตัวมาในรูปแบบของโฆษณา (Malvertising) โดยการโฆษณาไปยังบริษัทเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความสามารถในการจ่ายเงินค่าไถ่ หรืออาจจะเกิดจากบุคคลในองค์กรเองที่ไปคลิกลิงก์ที่คนร้ายส่งมา ทำให้มัลแวร์ดังกล่าวติดตั้งตัวเองในระบบแล้วทำการเข้ารหัส หรือล็อกไฟล์ทั้งหมด จากนั้นจะมีข้อความเตือนที่หน้าจอให้ติดต่อกลับไป คนร้ายมักจะเรียกเป็นสกุลเงินดิจิทัล หากไม่ยอมจ่ายคนร้ายจะข่มขู่ว่าจะทำลายไฟล์ทั้งหมด หรือนำไปเปิดเผยต่อไป
ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานในด้านการป้องกันปราบปรามได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยออนไลน์ที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชน องค์กร หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ การเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ (Ransomware) โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง
ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน หน่วยงานไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
การกระทำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน “ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง”
โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า อาชญากรรมทางเทคโนโลยีประเภท มัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) เป็นหนึ่งในภัยเงียบ เนื่องจากบางหน่วยงาน หรือบริษัทที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่เมื่อตกเป็นเหยื่อก็มักจะปกปิดเรื่องดังกล่าว ไม่ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพราะเกรงว่าจะกระทบกับความน่าเชื่อถือขององค์กร เพราะฉะนั้นฝากประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ใช้งานทั่วไป ผู้ดูแลระบบองค์กร (Admin) ถึงแนวทางการป้องกันการถูกเรียกค่าไถ่ข้อมูล (Ransomware) 9 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. ใช้กฎ 3-2-1 Backup Rule คือ การเก็บข้อมูลสำคัญเอาไว้ 3 ชุด ได้แก่ ข้อมูลหลักต้นฉบับ 1 ชุด และข้อมูลสำรองอีก 2 ชุด โดยเก็บไฟล์เหล่านั้นเอาไว้บนอุปกรณ์ที่แยกขาดจากกัน 2 ประเภท และข้อมูลสำรองชุดหนึ่ง นำไปเก็บไว้ที่ต่างสาขา หรือสำรองเอาไว้แบบออฟไลน์
2.อัปเดตซอฟต์แวร์อย่างสม่ำเสมอ การอัปเดตระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์จะช่วยป้องกันการโจมตีที่ต้องอาศัยช่องโหว่ของซอฟต์แวร์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Adobe Flash, Microsoft Silverlight และเว็บเบราว์เซอร์ ควรติดตามและอัปเดตให้เป็นปัจจุบัน
3.ติดตั้งโปรแกรมป้องกันมัลแวร์ (Anti-malware) ลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อป้องกันการเข้าถึงเว็บไซต์ที่เป็นอันตรายและตรวจสอบไฟล์ทั้งหมดที่ถูกดาวน์โหลด
4.เมื่อพบเว็บไซต์ หรือไฟล์ หรือลิงก์ ที่ไม่น่าไว้ใจ ให้รีบลบทิ้ง ไม่ควรลองคลิกเปิดดูว่าเป็นโปรแกรมใด และเมื่อได้รับอีเมลควรตรวจสอบให้ดีก่อนการดาวน์โหลดเอกสารที่แนบมา หรือติดต่อไปยังผู้ส่ง
5.ห้ามพนักงานใช้เครื่องคอมพิวเตอร์บริษัท หรือหน่วยงานทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น เปิดอีเมลส่วนตัว หรือเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์อันตราย
6.ปิดการดาวน์โหลดอัตโนมัติ (autorun) กรณีใช้ Flash Drive Harddisk และสมาร์ตโฟนบน Windows เพื่อป้องกันมัลแวร์
7.ไฟล์ที่สำคัญ ให้กำหนดสิทธิ์การเข้าถึงจากบุคคลภายนอกให้เพียง Read-only เท่านั้น
8.ทำการ block blacklist IP จากข้อมูล Threat Intelligence เพื่อเป็นการป้องกันเบื้องต้นในการเข้าถึง Server ต่าง ๆ ที่เป็นอันตราย
9.ติดตามข่าวสาร ควรติดตามข่าวสารช่องโหว่หรือภัยคุกคามต่าง ๆ รวมถึงศึกษาวิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่าผู้ไม่หวังดีและเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ใช้งานเอง