“รองโจ๊ก” ลงพื้นที่นครศรีฯ พบปะพี่น้องชาวประมง หารือการออกใบอนุญาตประมงพื้นบ้าน

หลังจากที่เมื่อวันที่ 19 ก.พ.66 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร./กรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ร่วมกับกรมประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เปิดเวทีประชุมร่วมกับผู้แทนชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน เพื่อเป็นการทำความเข้าใจกับพี่น้องชาวประมงเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายในการอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน โดยนำเอาข้อกฎหมายต่างๆ มานำเสนอเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องชาวประมงที่เข้าร่วมการประชุมจาก 56 องค์กร จำนวนกว่า 200 คน เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวสามารถบังคับใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งกับประเทศชาติ และพี่น้องชาวประมงไทยให้มากที่สุด ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวประมงไทยให้สามารถทำประมงได้อย่างยั่งยืน และรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำไว้ให้คงอยู่ต่อไป จึงได้จัดให้มีการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านขึ้น เพื่อดูแลการทำประมงพื้นบ้านให้ดียิ่งขึ้น

กรณีดังกล่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/ประธานกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. /กรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ให้มีการจัดการประชุมร่วมกับผู้แทนชาวประมงพื้นบ้าน ให้ทั่วถึงมากที่สุด เพื่อให้พี่น้องชาวประมงทั่วประเทศได้รับทราบถึงประโยชน์ของการมีใบอนุญาติทำการประมงพื้นบ้าน และสามารถปฏิบัติตามแนวทางที่กฎหมายกำหนดได้ รวมทั้งรับฟังความเห็นเพื่อพัฒนาแนวทางบังคับใช้ให้เกิดผลกระทบน้อยแต่มีประสิทธิภาพสูงสุด

วันนี้ (20 ก.พ.66) เวลา 16.00 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ร่วมกับ ดร.อดิศร พร้อมเทพ อดีตอธิบดีกรมประมง และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางลงพื้นที่เพื่อพบปะพี่น้องชาวประมง ณ สมาคมประมงพื้นบ้านในถุ้ง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 100 คน เพื่อร่วมกันเสนอความคิดเห็นในการพัฒนาแนวทางการขอออกใบอนุญาตทำประมงพื้นบ้าน เพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตของชาวประมงมากที่สุด และสามารถช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลในท้องถิ่นให้มีความอุดมสมบูรณ์

ทั้งนี้ การออกใบอนุญาตทำประมงพื้นบ้านนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางร่วมกันระหว่างรัฐและชาวประมงพื้นบ้าน ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำของแต่ละพื้นที่ แต่ละฤดูกาล รวมทั้งอุปกรณ์การจับสัตว์น้ำที่ไม่ทำลายธรรมชาติและสัตว์น้ำขนาดเล็ก เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติให้มีความยั่งยืน อีกทั้งยังเสมือนเป็นการลงทะเบียนให้กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาครัฐสามารถเข้าช่วยเหลือ สนับสนุนการทำประมงพื้นบ้าน ให้เป็นไปได้อย่างยั่งยืนและสืบทอดสู่รุ่นลูกหลานได้ต่อไป ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะอยู่บนพื้นฐานการดำเนินการตามที่ พ.ร.ก.ประมง กำหนด โดยหลังจากประชุมรับฟังความคิดเห็นแล้ว จะได้มีการนำผลการหารือเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติพิจารณาดำเนินการต่อไป

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ตามความตั้งใจของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ซึ่งได้มอบหมายให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นร่วมกับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อสร้างความเข้าใจ รับฟ้งความคิดเห็น และร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อให้เป้าหมายของการออกใบอนุญาตด้งกล่าวมีประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถบังคับใช้ได้จริง วันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสเดินทางลงพื้นที่ใน อ.ท่าศาล จ.นครศรีธรรมราช เพื่อให้การทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการออกใบอนุญาตดังกล่าว เข้าถึงพี่น้องชาวประมงในแต่ละพื้นที่ให้มากที่สุดที่จะทำได้ ซึ่งทุกความคิดเห็น ทุกข้อเสนอแนะ ที่พี่น้องประชาชนได้พูดคุยและนำเสนอในวันนี้ กระผมและเจ้าหน้าที่ที่เดินทางมาในวันนี้ จะบันทึก รวบรวม และสรุปผลเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ เพื่อนำไปพัฒนาแนวทางให้เกิดผลกระทบกับวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านให้น้อยที่สุด และสามารถรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้พี่น้องได้มีไว้ทำประมงจนชั่วลูกชั่วหลานต่อไป จากนี้จะยังมีการเดินทางไปยังจังหวัดอื่นๆ ตามแนวชายฝั่งทะเลที่มีการทำประมงพื้นบ้าน เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องชาวประมงให้ได้มากที่สุดต่อไป