“รองโจ๊ก” บินด่วน ติดตามความคืบหน้ากรณี ลูกเรือประมงต่างด้าวถูกทำร้ายสาหัส

จากกรณี เมื่อวันที่ 14 ก.พ.66 เวลาประมาณ 20.00 น. พนักงานสอบสวน สภ.ปากน้ำชุมพร ได้รับแจ้ง จากศูนย์ PIPO ว่ามีลูกเรือประมง ชื่อ นายอาว วิน นายสัญชาติเมียนมา ซึ่งเป็นลูกเรือประมงอยู่กับเรือ ม.โชควาสนานาวี 9 ถูกทำร้ายร่างกายบนเรือประมงและได้ถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเขตอุดมศักดิ์

วันนี้ (18 ก.พ.66) เวลาประมาณ 11.30 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เข้าประชุมร่วมกับนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พล.ต.ท.วันไชย เอกพรพิชญ์ จต. (สบ 8) พล.ต.ต.จารุต ศรุตยาพร ผบก.ภ.จว.ชุมพร พร้อมด้วย พม.จังหวัดชุมพร แรงงานจังหวัดชุมพร และNGOs เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวน และหารือเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งติดตามความคืบหน้าของการดำเนินคดี

จากการสืบสวนทราบว่า เรือประมง ม.โชควาสนานาวี 9 มีลูกเรือจำนวน 7 คน เป็นสัญชาติเมียนมาทั้งหมดรวมถึงตัวผู้ได้รับบาดเจ็บ และมีคนไทย 2 คนเป็นเจ้าของเรือและไต้ก๋ง ในวันเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 13 ก.พ.66 เวลา 13.30 น. ขณะที่เรือจอดอยู่ที่แพโชคทอง นายอาว วิน นาย รู้สึกไม่อยากทำงานต่อ จึงปฏิเสธที่จะลงเรือ ทำให้คนไทยทั้งสองไม่พอใจ และรุมทำร้ายนายอาว วิน นาย จนได้รับบาดเจ็บ แล้วบังคับออกเรือไปทำประมง ผู้เสียหายจึงโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือมายังเจ้าหน้าที่ เมื่อเจ้าหน้าที่ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สั่งการให้เรือทำประมงลำดังกล่าว เข้าฝั่งและเข้าช่วยเหลือ นายอาว วิน นาย ได้ทันท่วงที

หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้นำตัวลูกเรือประมงที่เหลืออีก 6 คน เข้ากระบวนการคัดแยกเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ผลการคัดแยกเหยื่อพบว่า ลูกเรืออีก 6 รายที่เหลือนั้น ไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดเรื่องค้ามนุษย์และบังคับใช้แรงงาน แต่พบว่า ลูกเรือทั้ง 6 คน ทำงานในเรือประมงโดยรับค่าจ้างไม่ผ่านบัญชีธนาคาร, จ่ายค่าจ้างไม่ถูกต้อง และไม่จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างตามที่ กฎกระทรวงกำหนดไว้ จึงได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าของเรือแล้ว ในส่วนของกรณีนายอาว วิน นาย นั้น อยู่ในระหว่างการสอบปากคำพยานเพิ่มเติม รวมทั้งนำตัวเจ้าของเรือ และไต้ก๋งมาสอบปากคำเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า คดีดังกล่าวมีลูกเรือประมงถูกทำร้ายร่างกายจากนายจ้าง โดยอ้างว่าเกิดจากการปฏิเสธที่จะทำงาน ซึ่งเข้าข่ายการบังคับใช้แรงงานหรือการค้ามนุษย์ จึงได้สั่งการให้ดำเนินการสืบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว เบื้องต้นยังไม่สามารถสอบผู้เสียหายโดยละเอียดได้ เนื่องจากยังรักษาตัวจากอาการบาดเจ็บ แต่ในส่วนของลูกเรือที่เหลือ หลังจากที่นำเข้าสู่กระบวนการคัดแยกเหยื่อแล้วพบว่า สภาพการทำงานภายในเรือนั้นไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งการจ่ายค่าจ้างก็มิได้ดำเนินการตามกฎหมาย จึงสั่งการให้ดำเนินคดีกับนายจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานฯ ต่อไป ในส่วนของการทำร้ายร่างกาย มีลักษณะเข้าข่ายการบังคับใช้แรงงานหรือการค้ามนุษย์ หากพบว่ากระทำผิดจริงจะดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องจนถึงที่สุด