ตามนโยบายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ปราบปรามผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคนำไปใช้แล้วไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นการปลอมสินค้ายี่ห้อแบรนด์ดัง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคโดยตรงและส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมเป็นอย่างมาก
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เกศะรักษ์ รอง ผบก.ปคบ.,พ.ต.อ.ภาคภูมิ ศรีลาภะมาศ รอง ผบก.ปคบ.,พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ รอง ผบก.ปคบ.,พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว รอง ผบก.ปคบ.,พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.วริษฐ์ ปทุมารักษ์ ผกก.3 บก.ปคบ.,พ.ต.ท.เทพรัตน์ ศุกระกาญจน์ รอง ผกก.3 บก.ปคบ.,พ.ต.ท.ธงฉาน ตันบุญเจริญ รอง ผกก.3 บก.ปคบ.
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมนำโดย พ.ต.ท.วัลลภ นุชกำบัง, พ.ต.ท.มงคล นนท์ธีระโรจน์, พ.ต.ท.ภูมิพัฒน์ บัวรัตนกุล, พ.ต.ท.อภิเดช อธิคมสัญญา สว.กก.3 บก.ปคบ. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปคบ.ได้ทำการสืบสวนพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(ไม่มี มอก.) และผลิตภัณฑ์ที่เป็นการปลอมยี่ห้อแบรนด์ดังที่ไม่มี มอก. ทั้งจากช่องทางออนไลน์ , การลงพื้นที่สืบสวนหาข่าว และการออกตรวจสอบร้านจำหน่าย จนนำไปสู่การเข้าทำการตรวจค้นแหล่งผลิตและกักเก็บผลิตภัณฑ์ที่ไม่มี มอก. จำนวนทั้งสิ้น 4 จุด โดยมีรายละเอียดสถานที่ตรวจค้นดังนี้
1. โกดังเก็บสินค้า อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
2. อาคารพาณิชย์ เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร
3. โกดังเก็บสินค้า เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
4. อาคารพาณิชย์ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร
ผลการตรวจค้นพบของกลาง 1.เครื่องรับวิทยุ (ปลอม) ไม่มี มอก. จำนวน 2,460 หน่วย 2.แบตเตอรี่สำรองไม่มี มอก. จำนวน 1,880 หน่วย 3.เตาย่าง เตาปิ้ง และเครื่องทำอาหารที่เคลื่อนย้ายได้ ไม่มี มอก. จำนวน 112 หน่วย 4.ลำโพงซาวน์บาร์ จำนวน 90 หน่วย 5.พัดลมไฟฟ้ากระแสสลับ จำนวน 34 หน่วย มูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 2,500,000 บาท
ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพ.ศ.2511 ดังนี้
1. ทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานโดยไม่ได้รับอนุญาต เข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร เข้าข่ายฝ่าฝืน มาตรา 20, 21 โทษตามมาตรา 48 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. จำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่าย ซึ่งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำหรือนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 36 โทษตามมาตรา 55 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังเข้าข่ายฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 ประกอบ 108 “มีไว้เพื่อจำหน่าย ซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร”โทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท
โดย พล.ต.ต.อนันต์ ผบก.ปคบ. ได้กล่าวฝากประชาสัมพันธ์ไปยังร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่จะนำมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และฝากไปยังผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ให้สังเกตเครื่องหมาย มอก. และซื้อจากร้านค้าที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายในการใช้งานและส่งผลเสียต่อตัวของผู้บริโภคเอง หากประชาชนผู้บริโภคพบเห็นหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับการนำเข้า ผลิต กักเก็บ ลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่ไม่มี มอก. สามารถแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลผ่านทางสายด่วน บก.ปคบ. หมายเลข 1135 หรือทางหน้าเพจ facebook : กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ facebook : ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค หรือ facebook: ตำรวจสอบสวนกลาง CIB