แถลงเปิดสถิติเด็กหายเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 4 ปี เตือนภัยผู้ปกครองก่อนวันเด็ก

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 ม.ค. ที่ ห้องประชุม 3 อาคารพิทักษ์สันติ ชั้น 19 กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผบก.ปคม. พร้อม พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ ผกก.ฝ่าย 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร  พ.ต.ต.จักรี นารีผล สว.กก.สวัสดิภาพเด็กและสตรี บช.น. นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์และการเฝ้าระวังภัยเด็กหาย

นายเอกลักษณ์  เปิดเผยว่า สถิติรับแจ้งเด็กหายของมูลนิธิฯปี 2565 มีทั้งสิ้น 251 ราย เพิ่มสูงขึ้นในรอบ 4 ปี โดยสูงกว่าปี 2564 ถึง 25%  สาเหตุหลักกว่า 61% หรือ 161 ราย มาจากเด็กสมัครใจหนีออกจากบ้าน  รองลงมาคือ กลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการช้า มีความพิการทางสติปัญญา หรือป่วยทางจิตเวช สูญหายกว่า 21% หรือ 52 ราย  และมีเด็กถูกลักพาตัว 2 ราย  ซึ่งช่วงอายุเฉลี่ยของเด็กที่หายออกจากบ้าน มากที่สุดพบว่าอายุ 11-15 ปี รวม 157 ราย มีสาเหตุมาจากเป็นกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาต้นที่เป็นช่วงวัยรุ่นหัวเลี้ยวหัวต่อ มีสังคมเพื่อน และเป็นวัยที่เข้าถึงเทคโนโลยี และมีแรงขับทางเพศตามธรรมชาติ รองลงมาอายุ 16-18 ปี รวม 67 ราย และช่วงแรกเกิดถึงสิบขวบ รวม 28 ราย

นายเอกลักษณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดที่มีเด็กสูญหายออกจากบ้านมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 70 ราย นนทบุรี 17 ราย สมุทรปราการ 17 ราย ปทุมธานี 16 ราย  ชลบุรี 9 รายและนครปฐม 9 ราย ซึ่งการติดตามตัวค่อนข้างทำได้ยาก แต่ก็สามารถใช้สายรัดข้อมือที่มีข้อมูลส่วนบุคคลและบอกตำแหน่งที่อยู่เป็นเบาะแสติดตามตัวคนหายที่ไม่สมัครใจกลับคืนมาได้

พล.ต.ต.ศารุติ  กล่าวว่า ภัยเด็กหายเป็นปัญหาสำคัญของสังคมทั่วโลก โดยในประเทศไทย แม้ว่า เด็กหายส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้านก็ตาม แต่ท้ายสุดแล้ว เมื่อมีการแจ้งความเด็กหายมายังตำรวจ เราจะถือว่า ทุกกรณีมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะการที่เด็ก ก้าวเท้าออกจากบ้าน ย่อมเกิดอันตรายได้รอบด้าน ทั้งสวัสดิภาพและความปลอดภัย  อาจเกิดการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการแสวงหาผลประโยชน์กับเด็ก การมีความเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน อันนำมาซึ่งปัญหาสังคมในด้านอื่น ตลอดจนอาจตกเป็นผู้เสี่ยงหายจากการถูกค้ามนุษย์ 

ด้าน พ.ต.ต.จักรี กล่าวว่า  เมื่อปีที่ผ่านมา กก.ดส.บช.น. บก ปคม.และมูลนิธิฯได้ให้การช่วยเหลือ เด็กชายจีโอ ที่ถูกคนร้ายชักชวนไปกินขนมและเที่ยวเล่น จนเด็กเกิดความไว้วางใจ ก่อนพาไปเร่ขอทานในสถานที่สาธารณะ  ซึ่งกรณีดังกล่าวเจ้าหน้าที่สามารถให้การช่วยเหลือหลังจากรับแจ้งได้ไม่นาน ทันท่วงที เพราะหลายฝ่ายร่วมมือกันทำงานในทุกมิติ อย่างไรก็ตามขอเตือนผู้ปกครองในการเฝ้าระวังเด็กโดยเฉพาะช่วงอายุ 4-8 ขวบทีมีปัจจัยเสี่ยงสูงสุด เนื่องจาก การที่ผู้ปกครองปล่อยเด็กวิ่งเล่นตามลำพัง แม้ว่าบริเวณที่เด็กวิ่งเล่น จะคุ้นเคยอยู่มาตั้งแต่เด็ก ผู้ก่อเหตุก็อาจจะใช้โอกาสนี้เข้ามาตีสนิทพูดคุยกับเด็กเมื่อเด็กอยู่ตามลำพัง  นอกจากนี้ผู้ก่อเหตุบางราย  เช่น กรณีน้องจีโอ ยังไปหลอกเด็กตามร้านเกมส์ ให้เงินเด็กในการเล่นเกมส์เพื่อหลอกล่อและเด็กตายใจ

พ.ต.อ. ชัยวัฒน์  กล่าวว่า กองทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทยที่ใช้กระบวนการวาดภาพสเก็ตช์เด็กหายให้มีอายุเทียบเท่าปัจจุบัน (Age Progression) โดยใช้หลักสากลคือเด็กหายที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ยังตามหาไม่พบ จะทำการสเก็ตช์ภาพเพิ่มอายุ ทุก 2 ปี ส่วนเด็กหายที่มีอายุเกิน 18 ปี จะทำการสเก็ตช์ภาพทุก 5 ปี ซึ่งช่วงเวลาเหล่านั้น จะเป็นช่วงเวลาที่ลักษณะใบหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลง  ภาพสเก็ตซ์ในส่วนนี้จะใช้ภาพเดิมประชาสัมพันธ์คู่กันเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เพิ่มโอกาสให้พลเมืองดีจดจำคนหายได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันได้สเก็ตซ์ภาพเด็กหายร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา มากกว่า 10 ราย

ขณะที่ พล.ต.ต.ศารุติ  กล่าวทิ้งท้ายว่า  สำหรับวันเด็กที่จะถึงนี้ ทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอฝากประชาสัมพันธ์ยังผู้ปกครอง เพื่อป้องกันเด็กสูญหายพลัดหลงในงานวันเกิด  

1.ผู้ปกครองต้องจดจำรูปพรรณของลูก ส่วนสูง น้ำหนัก ตำหนิ สีเสื้อผ้า 

2.ให้ถ่ายรูปล่าสุดพร้อมชุดที่สวมใส่ของลูกก่อนออกจากบ้าน

3.ทำป้ายชื่อ เบอร์ติดต่อครอบครัวติดตัวเด็กไว้

4.สอนลูก หากพลัดหลง นัดเจอกันจุดไหน ให้ใครช่วยเหลือ

5.สอนลูก หากตกอยู่ในอันตราย มีคนจูงมือไป พร้อมตะโกนให้คนช่วย 

ทั้งนี้ หากเกิดการสูญหาย หากค้นหาในบริเวณงานแล้วยังไม่พบตัว ให้โทรแจ้ง 1191 หรือ แจ้งความเด็กหายได้ทันทีโดยไม่ต้องรอครบ 24 ชม.