ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ให้ปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบที่กระทำความผิดสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนผู้สุจริตจำนวนมาก ชุดลาดตระเวนออนไลน์สืบสวนนครบาล IDMBได้รับแจ้งเรื่องความเดือนร้อนจากประชาชนอาชีพพริตตี้ถูกคนร้ายนำทองปลอม น.น. 2 บาท มาหลอกขาย เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายจำนวน 30,000 บาท และจากการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์คนร้ายที่ก่อเหตุเคยถูกจับกุมในคดีลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และฉ้อโกงมาแล้ว 2 ครั้ง
ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2565 เวลาประมาณ 18.30 น. พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. , พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. , พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.สราวุธ คนใหญ่ , พ.ต.อ.นิวัตน์ พึ่งอุทัยศรี , พ.ต.อ.กมล นุ่มหอม รอง ผบก สส.บช.น. , พ.ต.อ.ฤตวีร์ สุขเจริญ ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สส.บช.น. , พ.ต.ท.พัชรพงษ์ กาญจนวัฎศรี รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น , พ.ต.ท.สมพงษ์ เกตุระติ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สส.บช.น. พร้อมด้วยชุดลาดตระเวนออนไลน์สืบสวนนครบาล IDMB และเจ้าหน้าที่ กก.วิเคราะห์ข่าวฯบก.สส.บช.น. ได้สืบสวนติดตามจับกุมตัว
นายณัฐอินทร์ทัช นุชนารถ อายุ 34 ปี ที่อยู่ เลขที่ 7 ซอยวชิรธรรมสาธิต 74 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพ โดยกล่าวหาว่าฉ้อโกง ตามหมายจับศาลแขวงพระนครเหนือ ที่ 622/2565 ลงวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2565
สามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ที่บริเวณลานจอดตลาดรถวิน ภายในซอยศรีนครินทร์ 40 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร
จากการซักถามปากคำในชั้นจับกุมผู้ต้องหาให้การภาคเสธว่าเมื่อมิ.ย.65 ตนไม่ได้มีเจตนาที่จะนำทองปลอมน้ำหนัก 2 บาทมาเสนอขายให้แก่พริตตี้สาวผู้เสียหาย แต่ทองดังกล่าวอ้างว่าตนได้มาจากการรับซื้อมาจากคนที่เล่นเสียพนัน โดยในวันเกิดเหตุเมื่อตนได้ทองมาจากผู้เล่นเสียพนันให้ตนแล้ว ตนได้นัดพริตตี้สาวให้มาพบ ต่อมาตนมีธุระที่จะต้องใช้เงินด่วนจึงได้เสนอให้พริตตี้โอนเงินเข้าบัญชีตนจำนวน 30,000 บาท เพื่อแลกกับสร้อยคอทองคำ น้ำหนัก 2 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนมิได้ปักใจเชื่อคำให้การ
เนื่องจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าผู้ต้องหาเป็นคนที่มีความรู้ด้านการสั่งทำกรอบพระ สั่งทำเครื่องประดับ ที่ทำจากเงินและทองไม่บริสุทธิ์ โดยมีร้านรับทำกรอบพระย่านศรีนครินทร์เป็นของตนเอง จึงมีความรู้ในการสั่งซื้อสั่งทำเครื่องประดับ รวมทั้งรู้แหล่งซื้อทองปลอมราคาหลักพัน ประกอบกับเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์กระทำความผิดของผู้ต้องหาพบว่าก่อนหน้าที่จะมาถูกจับกุมในครั้งนี้ ผู้ต้องหาดังกล่าวเคยถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง และ ข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน มาแล้ว 2 ครั้ง คือ
ปี 2554 ถูกจับกุมข้อหา “ฉ้อโกง” ท้องที่ สน.หัวหมาก ครั้งนั้น มีพฤติการณ์หลอกนำพระปลอมไปหลอกให้ผู้เสียหายเช่าบูชา มูลค่าความเสียหายกว่า 200,000 บาท
ปี 2557 ถูกจับกุมข้อหา “ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน” ท้องที่ สน.โชคชัย ครั้งนั้น มีพฤติการณ์ชักชวนผู้เสียหายไปร่วมรับประทานอาหารที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งก่อนจะฉวยโอกาสขณะที่ผู้เสียหายเข้าห้องน้ำลักเอาทรัพย์สินที่อยู่ภายในซองเอกสารซึ่งเป็นเงินสดกว่า 100,000 บาท พร้อมเอกสารสำคัญของผู้เสียหายไป
ทั้งนี้ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าทำการจับกุมตัวผู้ต้องหา ปรากฏผู้ต้องหามีการใส่เครื่องประดับที่มีลักษณะเหมือนทองคำที่คอและข้อมือเพื่อดูให้เป็นคนมีฐานะ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจซักถามผู้ต้องหาให้การเครื่องประดับที่สวมใส่นั้นเป็นทองปลอมที่ตนซื้อมาในราคาหลักพันบาท เหตุที่ตนสวมใส่เครื่องประดับดังกล่าวเนื่องจากเป็นความชอบส่วนตัว เพื่อให้ตนดูภูมิฐานมีฐานะ เป็นที่น่าเชื่อถือดึงดูดความสนใจของเพศตรงข้าม โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่เป็นนักเที่ยวกลางคืน พริตตี้ จึงนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ดำเนินคดีตามกฎหมาย
พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. กล่าวแจ้งเตือนภัยไปยังพี่น้องประชาชนว่าในสังคม ปัจจุบันมิจฉาชีพมีหลายรูปแบบ ขอให้ประชาชนได้โปรดใช้สติในการใช้ชีวิตในสังคม อย่างหลงเชื่อกลโกง หรือมองคนที่การแต่งตัวหรือสวมใส่เครื่องประดับ ควรมีสติวิเคราะห์ถึงพฤติกรรม กลโกง หากไม่แน่ใจ หรือสงสัยว่าบุคคลที่เข้ามาเสนอผลประโยชน์ เสนอขาย หรือชักชวนลงทุนในด้านต่างๆ นั้นจะเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบ หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด มายังเพจ “สืบสวนนครบาล IDMB” ได้ตลอด 24 ชม. แม้จะเป็นคดีที่มีความเสียหายไม่มาก แต่หากเป็นคดีที่ประชาชนเดือดร้อน เราทำทันที ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.