นายกฯ เปิดนิทรรศการ “ของขวัญปีใหม่ จากตำรวจไทยสู่ประชาชน” พ.ศ.2566 ผ่าน 9 โครงการ

วันพฤหัสบดี ที่ 22 ธ.ค. 65 เวลา 14.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดนิทรรศการ “ของขวัญปีใหม่ จากตำรวจไทยสู่ประชาชน” พ.ศ. 2566 โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พร้อมด้วย รอง ผบ.ตร. , ผู้ช่วย ผบ.ตร.และข้าราชการตำรวจ เข้าร่วม โดยปีใหม่ 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบของขวัญแก่พี่น้องประชาชน และข้าราชการตำรวจ ตามนโยบายรัฐบาล 9 โครงการ ประกอบด้วย

1. โครงการประชาอุ่นใจ ตำรวจเข้มแข็ง เน้นการป้องกันอาชญากรรม ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นอุ่นใจ เช่น โครงการฝากบ้าน 4.0 เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยบ้านและทรัพย์สินของประชาชนที่ไม่มีผู้อยู่ในอาศัยในช่วงเทศกาล โดยลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ฝากบ้าน 4.0” หรือ โทรศัพท์หรือแจ้งด้วยตนเองกับสถานีตำรวจในพื้นที่, โครงการเพื่อนบ้านเตือนภัย สร้างความร่วมมือจากประชาชนในการช่วยกันดูแลความปลอดภัยให้แก่กันและกัน, โครงการ Stop Walk & Talk เก็บข้อมูลจากการพูดคุยกับประชาชน แล้วนำข้อมูลไปใช้ในการป้องกันอาชญากรรม, โครงการ 1 ตำรวจ 1 ชุมชน เป็นการเปิดช่องทางในการรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากประชาชน สู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

2. โครงการชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด แบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ ได้ดำเนินการไปแล้ว จำนวน 2,966 หมู่บ้าน/ชุมชน และในปี พ.ศ. 2566 จะดำเนินการอีกจำนวน 1,483 หมู่บ้าน/ชุมชน นำผู้เสพยาเสพติดสู่การบำบัดรักษาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน CBTx , โครงการค้นหาผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ผู้มีอาการทางจิต และผู้ป่วยจิตเวช เพื่อนำเข้าสู่การบำบัดรักษา และมาตรการเชิงรุก ได้ปิดล้อมตรวจค้นชุมชนเพื่อระงับยับยั้งการแพร่ระบาด ตรวจสถานบริการ สถานบันเทิง เพื่อลดการแพร่ระบาดยาเสพติดลงให้ได้เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้แก่พี่น้องประชาชน

3. โครงการเสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันภัยออนไลน์ ผลิตตำรวจทุกสถานีตำรวจ ข้าราชการและประชาชน 4,584 คน ให้เป็น “ครูวัคซีนไซเบอร์” เผยแพร่ประชาสัมพันธ์สื่อไซเบอร์วัคซีน หรือกลโกงของคนร้ายที่ใช้ในการหลอกลวงเหยื่อบนโลกออนไลน์  ให้ประชาชนรับทราบ และไม่ตกเหยื่อ , มีการทำ MOU ระหว่าง ตร.กับหน่วยงานต่างๆ ได้ดำเนินการกับสมาคมธนาคารไทย และบริษัทไปรษณีย์ไทยไปแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการกับ กสทช.และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ทั้งยังได้รับข้อมูลในการสืบสวนกับเอกชน เช่น Lazada, Shopee เพื่อสร้างเครือข่ายในการป้องกันปราบปราม  และพัฒนาระบบการรับแจ้งความออนไลน์ ทางสายด่วน 1441, 081 866 3000 และมีระบบแชทบอทผ่าน application Line@police1441 , โครงการมายซิสบอท  ใช้สื่อสารกับผู้ใช้ผ่านโลกออนไลน์ เพื่อให้คำแนะนำและความรู้แก่เด็ก สตรี เมื่อต้องเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว รวมไปถึงการระบายให้บอทมายซิสฟัง ผ่านแพรตฟอร์มแมสเซนเจอร์ และเฟซบุ๊กในเพจ มายซิส MySis Bot

4. โครงการขับดี ปลอดภัย ใส่ใจทุกการเดินทาง จะมีโครงการสุภาพบุรุษจราจร ประชาชนสัญจรปลอดภัย เพื่อคัดเลือกตำรวจจรจรารที่ปฏิบัติงานดีเด่นในทุกสถานีตำรวจ ทำให้มีตำรวจราจรมืออาชีพในทุกสถานีที่จะดูแลและอำนวยการจราจรแก่ประชาชนอย่างเป็นมิตร , การพัฒนา Smart Platform สำหรับอำนวยความสะดวกประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลจราจรต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชันขับดี และ
เว็บ E-Ticket จะอำนวยความสะดวกประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านการจราจรต่างๆ , หน่วยบริการตำรวจทางหลวงที่สะดวกและทันสมัย จัดห้องพักฟรีที่หน่วยบริการทั่วประเทศ รวมจำนวน 205 หน่วย พร้อมเครื่องดื่มและขนม ห้องน้ำ สัญญาณอินเตอร์เน็ต โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

5. โครงการแก้ปัญหาหนี้สินของข้าราชการตำรวจ โดยใช้กลไกของสหกรณ์ออมทรัพย์รวมหนี้จากสถาบันการเงินต่าง ๆ มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 9,617 ราย แก้ไขสำเร็จ จำนวน 6,569 ราย คิดเป็นร้อยละ 68.3 ยอดเงินจำนวน 8,934,250,945 บาท และจัดให้มีโครงการ Money management and Investment ให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนทางการเงิน และการลงทุนให้กับข้าราชการตำรวจและครอบครัว ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานเพื่อประชาชนต่อไป

6. โครงการลบประวัติล้างความผิดคืนชีวิตให้ประชาชน โดยลบประวัติที่เข้าเงื่อนไขตามระเบียบฯ ไปแล้ว 1.4 ล้านรายการ เพิ่มช่องทางการขอตรวจสอบประวัติได้ทางเว็บไซต์ และรับผลได้ทุกจังหวัด, โครงการจัดหาเครื่อง LIVE SCAN เพื่อใช้ SCAN ลายพิมพ์นิ้วมือทางอิเล็กทรอนิกส์ แทนการพิมพ์ลายนิ้วมือด้วยหมึกพิมพ์แบบดั้งเดิม ติดตั้งที่สถานีตำรวจ 140 แห่ง สามารถพิมพ์ลายนิ้วมือได้อย่างรวดเร็ว จะขยายโครงการจัดหาเครื่อง LIVE SCAN ให้ครบทั้ง 1,484 สถานี บริการประชาชน
ได้ทั้งประเทศ

7. โครงการแทนความห่วงใยห่างไกลโควิด-19 เป็นการให้บริการฉีดวัคซีน ป้องกันเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 มีแอปพลิเคชัน Police Plus ให้บริการนัดหมาย ตรวจสอบสิทธิ ลงทะเบียนตรวจรักษา และระบบ Telemedicine สำหรับการตรวจรักษาแบบ Online ผ่านแอปพลิเคชัน

8. โครงการศูนย์ไกล่เกลี่ยประจำสถานีตำรวจ โดยใน กทม. มี สน.ทองหล่อ และ สน.วัดพระยาไกร เป็น สน.นำร่อง อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยในคดีลหุโทษ, คดีความผิดอันยอมความได้ และคดีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ตามท้าย พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฯ ปัจจุบันมีผู้ไกล่เกลี่ยที่ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 1,300 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยประจำ สน./สภ.ทั่วประเทศ เพื่อให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง ลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล ประหยัดค่าใช้จ่าย เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในสังคม

9. โครงการยกระดับการบริการประชาชนของสถานีตำรวจ มีการปรับปรุง พัฒนาการทำงานให้บริการประชาชนด้วยความรวดเร็ว โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ สร้างเครือข่ายออนไลน์กับภาคประชาชนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในงานตำรวจยิ่งขึ้น ทำงานด้วยความโปร่งใส มีการแจ้งความคืบหน้าทางคดี  กำหนดให้มีการสำรวจความพึงพอใจประชาชนต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มประสิทธิภาพทำงานและพิจารณาความดีความชอบ  และระบบร้องเรียน ร้องทุกข์แจ้งเบาะแสต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ (JCoMs) เพื่อให้เข้าไปช่วยเหลือ แก้ไข ปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนภายใน 30 วัน