“รองโจ๊ก” นำทีมแถลงจับกุมแก๊งกลุ่มทุนจีนใช้แอปฯปล่อยเงินกู้นอกระบบผิดกฎหมาย

ในช่วงระหว่างปลายปี 64 ถึงปี 65 ได้มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปอศ. กรณีกู้เงินมาจากแอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบชื่อ กระเป๋าให้ท่านมีที่ยืม และ Self service รวมถึงแอปพลิเคชันอื่นที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 40 แอปพลิเคชัน โดยเรียกดอกเบี้ยโหดกว่าร้อยละ 2,080 ต่อปี นอกจากนั้นยังมีพฤติการณ์ข่มขู่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของลูกหนี้ เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเสียหาย จากกรณีดังกล่าว ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.)  นำโดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปน.ตร., พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช ผู้ช่วย ผบ.ตร./ รอง ผอ.ศปน.ตร., พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศปน.ตร. ได้สั่งการให้ บช.ก. เร่งรัดปราบปรามแอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรากว่าที่กฎหมายกำหนด และมีการข่มขู่คุกคามผู้กู้ให้ได้รับความเดือดร้อน พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. จึงได้มอบหมายให้ บก.ปอศ. โดย พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. ดำเนินการสืบสวนหาเครือข่ายผู้กระทำความผิดดังกล่าวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

ต่อมาวันที่ 15 ธ.ค.65 พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รอง ผบช.ภ.1 /หัวหน้าชุดปฏิบัติการส่วนกลาง ศปน.ตร. พร้อมด้วยชุดปฏิบัติการ บก.ปอศ. ร่วมบูรณาการกับ น. ภ.1 ภ.2 ภ.5 และ ภ.7 รวมกำลังทั้งสิ้นกว่า 100 นาย บุกทลายเครือข่ายลักลอบปล่อยเงินกู้นอกระบบผ่านแอปพลิเคชันชื่อ “Self service” และ แอปพลิเคชันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 40 แอปพลิเคชัน ซึ่งมีพฤติการณ์ในการปล่อยเงินกู้ เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ทวงถามหนี้โดยส่งข้อความข่มขู่คุกคามผู้เสียหาย ซึ่งจากการสืบสวนพบว่ามีกลุ่มทุนชาวจีนอยู่เบื้องหลัง โดยเจ้าหน้าที่สามารถพิสูจน์ทราบบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแอพลิเคชั่นดังกล่าว และออกหมายจับผู้ต้องหาจำนวน 23 หมาย ผู้ต้องหา 22 ราย และได้ปฏิบัติการเข้าตรวจค้นเป้าหมายจำนวน 22 จุด ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี เชียงราย พะเยา ชลบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์

โดยผู้ต้องหาทั้ง 19 ราย จะถูกดำเนินคดีในความผิดฐาน “ร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับเป็นทางการค้าปกติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ร่วมกันให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และร่วมกันทวงถามหนี้ในลักษณะข่มขู่”

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังสามารถตรวจยึดของกลางได้ รวม 7 รายการ ประกอบด้วย

1. สมุดบัญชีเงินฝาก จำนวน 5 เล่ม

2. คอมพิวเตอร์ จำนวน 3 เครื่อง

3. บัตรอิเล็คทรอนิกส์ จำนวน 3 ใบ

4. โทรศัพท์มือถือ จำนวน 2 เครื่อง

5. ซิมการ์ด จำนวน 4 ซิม

6. เราเตอร์ จำนวน 1 เครื่อง

7. อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ จำนวน 5 เครื่อง

และได้อายัดบัญชีเงินฝากที่เกี่ยวข้อง จำนวน 33 บัญชี ยอดเงิน 5,293,869.77 บาท

จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่าแอพลิเคชั่น กระเป๋าให้ท่านมีที่ยืม และ  Self service มีลักษณะคล้ายกันโดยเมื่อดาวน์โหลดแอปพลิชันแล้ว จะพบว่าภายในแอปพลิชันดังกล่าวมีแอปพลิเคชันย่อยแอบแฝงอยู่กว่า 40 แอปพลิเคชัน ซึ่งลูกหนี้สามารถเลือกกู้เงินได้ โดยมีการคิดค่าบริการร้อยละ 40  ของยอดเงินกู้ ต่อ 7 วัน หรือคิดดอกเบี้ยกว่า ร้อยละ 2,080 ต่อปี เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลา ก็จะโทรศัพท์และส่งข้อความมาทวงถาม ในลักษณะข่มขู่คุกคามว่าจะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล จากการสืบสวนเพิ่มเติม พบว่าผู้อยู่เบื้องหลังคือนายทุนชาวจีนที่เป็นผู้รับผลประโยชน์และเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับแอปพลิเคชันดังกล่าว ซึ่งหลังจากที่มีการเปิดปฏิบัติการทลายแก๊งปล่อยเงินกู้ในครั้งนี้ มีความพยายามจะหลบหนีไปออกนอกประเทศ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศปน.ตร. และชุดปฏิบัติการส่วนกลางติดตามจับกุมตัวได้ในที่สุด

ในส่วนของแอปพลิเคชัน “กระเป๋าให้ท่านมีที่ยืม” มีแอปพลิเคชันอื่นที่เกี่ยวข้องกว่า 20 แอปพลิเคชัน จากการตรวจสอบพบว่าไม่เคยได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับแต่อย่างใด โดยภายในระยะเวลา 6 เดือน กลุ่มคนร้ายใช้บัญชีธนาคารกว่า 20 บัญชี ในการกระทำความผิด มียอดเงินหมุนเวียนสูงถึง 1,000 ล้านบาท เมื่อได้กำไรจากการปล่อยเงินกู้นอกระบบแล้วจะรีบโอนเงินออกเป็นทอดๆ ในระยะเวลาที่รวดเร็ว และในส่วนของแอปพลิเคชัน “Self service” พบว่าไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับเช่นเดียวกัน โดยภายในระยะเวลา 6 เดือน พบว่ากลุ่มคนร้ายใช้บัญชี 11 บัญชี ในการก ระทำความผิด มียอดเงินหมุนเวียนกว่า 1,500 ล้านบาท และมีการโอนเงินออกเป็นทอดๆ เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ทั้งสองแอพลิเคชั่นมีการนำกำไรดังกล่าวไปซื้อเป็นเหรียญคริปโตเคอเรนซี่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สินค้าและบริการ เพื่อให้ยากต่อการถูกตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ในวันนี้ ศปน.ตร. ซึ่งมีหน้าที่ในการปราบปรามแก๊งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งปัจจุบันมีการกระทำผิดในหลายรูปแบบ ซึ่งปฏิบัติการในครั้งนี้ได้เข้าทลายแก๊งเงินกู้นอกระบบผ่านแอพลิเคชั่น ซึ่งทำให้สามารถเข้าถึงผู้ที่ต้องการกู้ได้ง่ายมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้กู้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งแก๊งเหล่านี้จะเอามาใช้ในการข่มขู่เพื่อให้ผู้กู้ยินยอมชำระดอกเบี้ยมหาโหดถึงร้อยละ 40 ต่อ 7 วัน หรือร้อยละ 2,080 ต่อปี เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องรวมทั้งนายทุนชาวจีนที่อยู่เบื้องหลังแอพลิเคชั่นดังกล่าว พร้อมทั้งยึดทรัพย์สินและบัญชีที่ใช้ในการกระทำความผิดได้ ซึ่งจากนี้จะสั่งการให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินเพิ่มเติมที่ติดตามยึดอายัดเพื่อนำมาดำเนินคดีตามกฎหมาย และจะมีการตรวจสอบการกระทำผิดในลักษณะของการปล่อยเงินกู้นอกระบบ เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายต่อไป หากพี่น้องประชาชนคนใดได้รับความเดือดร้อนจากแก๊งเงินกู้ หรือมีเบาะแสที่เป็นประโยชน์ สามารถแจ้งได้ที่ช่องทาง 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสามารถแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ได้เช่นกัน

สุดท้ายนี้ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ขอฝากเตือนภัยถึงประชาชน อย่าหลงเชื่อในการกู้เงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งไม่มีความน่าเชื่อถือและไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งยังเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ขอให้ใช้ความระมัดระวังในการอนุญาตให้ผู้อื่นเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลทางช่องทางต่างๆ เช่น การอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลโทรศัพท์ หากต้องการตรวจสอบแหล่งเงินกู้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถตรวจสอบใบอนุญาตการปล่อยสินเชื่อได้ที่ช่องทางดังต่อไปนี้ 

– ธนาคารแห่งประเทศไทย เว็บไซต์ https://www.bot.or.th/app/BotLicenseCheck  

– สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เว็บไซต์ http://www.1359.go.th/picodoc/comp.php

ช่องทางการติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม พ.ต.ต.วรวุฒิ คงรักษา สว.กก.5 บก.ปอศ. โทร 094-439-2557 หรือ พ.ต.ต.สุทธิพงษ์ จันทพันธ์ สว.กก.5 บก.ปอศ. โทร 092-938-8593

“ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด”