วันนี้ 14 ธ.ค.65 ที่ เวลา 11.00 น. ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พร้อมด้วย ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จับมือร่วมลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการประชาสัมพันธ์กลโกงของมิจฉาชีพในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระหว่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดสำหรับแจกจ่ายให้ประชาชน และสถานีตำรวจ ทั่วประเทศ
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยียังมีสถิติเพิ่มสูงขึ้น เฉลี่ยวันละ 600-700 ราย แม้ตำรวจจะเร่งปราบปรามจับกุมทุกมิติมาต่อเนื่อง แต่กลุ่มคนร้ายจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการกลโกง หลอกลวงประชาชนหลายรูปแบบแตกต่างกัน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สิน และกระทบต่อระบบเศรษกิจของประเทศ ตำรวจเพียงหน่วยเดียวจึงไม่สามารถแก้ปัญหา จำเป็นต้องอาศัยภาคีเครือข่ายในการร่วมกันป้องกัน รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกงจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะประชาชน ถือเป็นด่านแรกของการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหา จึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มไซเบอร์วัคซีนให้ถึงประชาชนโดยเร็วและมากที่สุด ต้องขอบคุณ นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด ที่เข้ามาช่วยผลักดัน ไซเบอร์วัคซีน ให้ถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมาย โดย ตร. ได้รวบรวมรูปแบบลักษณะการกระทําผิด แผนประทุษกรรม วิธีการหลอกลวง ที่เกิดขึ้นบ่อย วิธีการป้องกัน และวิธีการตรวจสอบข้อมูลการกระทําผิด ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ สื่อเตือนภัย สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชน (Cyber Vaccine) รู้เท่าทันรูปแบบกลโกงต่างๆ ของมิจฉาชีพ 18 รูปแบบ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จะเป็นผู้จัดส่ง สื่อประชาสัมพันธ์กลโกงของมิจฉาชีพในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในรูปแบบเอกสาร ขนาด A4 สําหรับแจกจ่ายให้ประชาชน ทั่วประเทศ และโปสเตอร์ ขนาด A3 สําหรับสถานีตํารวจทั่วประเทศ โดยจะเริ่มจัดส่งสื่อเอกสารประชาสัมพันธ์ภายในเดือนนี้ ระยะแรก จะจัดส่งใบปลิว ขนาด A4 จำนวน 1,500,000 แผ่น ส่งให้กับประชาชนทั่วประเทศ และโปสเตอร์ ขนาด A3 จำนวน 500,000 แผ่น ส่งให้กับสถานีตำรวจทั่วประเทศ
นายดนันท์ฯ กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยยังมีการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวเตือนภัยผ่าน ช่องทางทั้งออนไลน์ และออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนรู้ทันกลโกง ของมิจฉาชีพที่อาจแอบอ้างใช้ชื่อ และตราสินค้าของไปรษณีย์ไทย เพื่อหลอกให้หลงเชื่อจนนําไปสู่การสูญเสียทรัพย์สิน เช่น หลอกให้กรอกข้อมูล ส่วนตัว ข้อมูลบัตรเครดิต หลอกให้โอนเงินชําระค่าพัสดุที่ไม่สามารถนําจ่ายได้ หลอกให้แลกคะแนนเพื่อรับรางวัล เป็นต้น โดยไปรษณีย์ไทยขอเน้นย้าว่า ไม่มีนโยบายติดต่อผู้ใช้บริการทั้งทางโทรศัพท์ ข้อความ อีเมล ไลน์ เรียกเก็บค่าดําเนินการต่างๆ แต่อย่างใด
ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเป็นนโยบายเร่งด่วน ตร. ในการบังคับใช้กฎหมายปราบปรามและแสวงหาความร่วมมือทุกภาคส่วนในการร่วมป้องกันอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชน ที่เป็นสุจริตชน และเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ การจับมือร่วมกันของตำรวจและไปรษณีย์ไทยครั้งนี้ จะสร้างภูมิคุ้มกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้ประชาชน เชื่อว่า จะช่วยให้คดีเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีลดลง หากพี่น้องประชาชนพบการกระทำความผิดสามารถแจ้งเบาะแสและสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วน 191 หรือ 1599 หรือตำรวจไซเบอร์ 1441