พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เป็นประธานการประชุมมอบนโยบาย ศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
วันนี้ 8 ธ.ค. 65 เวลา 16.00 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปนม.ตร.) ได้ประชุมมอบนโยบายการปฏิบัติงาน ศปนม.ตร. ณ ห้องประชุมแจ้งยอดสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมระดับผู้บังคับบัญชา ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ทั้งหมด 896 นาย
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง.ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศปนม.ตร. ได้กล่าวกับที่ประชุมในวาระแรกว่า ศปนม.ตร. ได้งบประมาณจากกรมสรรพสามิตร ในการดำเนินงานจัดตั้งศูนย์ฯ โดยในฐานะ ผอ.ศปนม.ตร. ได้กำหนดทิศทางการทำงานที่ชัดเจน ทั้งในส่วนกลาง และส่วนการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัด ต้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งการจัดตั้ง ศปนม. ตร. เป็นนโยบายของรัฐบาล และ ผบ.ตร. ได้กำชับในส่วนของการปฏิบัติงานให้บรรลุตัวชี้วัด เนื่องจากมีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเพียงหน่วยงานเดียว คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รัฐบาลจึงให้อำนาจในการสอบสวน จับกุม และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด โดยมีการบูรณาการกับ กรมประมง กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมสรรพสามิตที่เป็นเครือข่ายในการปฏิบัติงานจึงต้องปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ เมื่อกรมสรรพสามิตได้ให้งบประมาณมาแล้ว ศปนม.ตร. จะต้องปฏิบัติงานให้คุ้มกับจำนวนเงินที่ได้รับมาจากกรมสรรพสามิต ใช้งานนำใช้เงินตาม ต้องทำงานให้บรรลุแผนงาน กำหนดให้ทุกชุดมีตัวชีวิด และต้องรายงานผลการปฏิบัติต่อ ผอ.ศปนม.ตร ทราบทุกเดือน ทั้งจำนวนคดี ยอดของกลาง ซึ่งเมื่อ ผอ.ศปนม.ตร. ได้รับผลการปฏิบัติงานจากส่วนการปฏิบัติงานมาแล้ว ก็จะส่งรายงานไปยังกรมสรรพสามิตทราบ เพื่อส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป
โดยในปีงบประมาณที่ผ่านมา ศปนม.ตร. ได้ตั้งตัวชี้วัด ไว้ 4 ด้าน ซึ่งผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัดเพียง 1 ด้าน คือ ด้านการตรวจสอบ ตามตัวชี้วัดตั้งไว้ 5,280 ครั้ง การปฏิบัติงานจริง 7,284 ครั้ง คิดเป็น 137.9% ส่วนด้านจำนวนคดี จำนวนของกลาง และเงินค่าปรับ ยังถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัด จึงต้องกำหนดให้หน่วยงาน ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เร่งปฏิบัติงานให้ผ่านเกณฑ์ และต้องรายงานผลการปฏิบัติงานต่อ ผอ.ศปนม.ตร. ทราบ ภายในวันที่ 10 ของทุกเดือน
นอกจากนี้ รอง.ผบ.ตร. ยังให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายของศูนย์ฯ หลังการประชุมว่า รัฐบาลได้มอบอำนาจให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควบคุมและดูแลสถานการณ์การลักลอบนำเข้าและส่งออกน้ำมันผิดกฏหมาย เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำในปัจจุบันมีความใกล้เคียงกันมาก แต่ยังมีการลักลอบ ทั้งนำเข้าและส่งออก อย่างเช่นกรณีของน้ำมันเขียวที่ใช้กับเรือประมง ที่มีการลักลอบนำไปขายต่อในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ จากการเก็บภาษีของน้ำมันเขียว ซึ่งสามารถสังเกตุได้จากจำนวนของน้ำมันเขียวที่ยังมีปริมาณเท่าเดิม แต่จำนวนเรือประมงลดลง สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายของ ศปนม.ตร ครอบคลุมน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท และทุกภาคส่วน ทั้งภาคการประมง และภาคพาณิชย์ ซึ่งรอง ผบ.ตร ในฐานะ ผอ.ศปนม.ตร. ได้หารือกับ อธิบดีกรมสรรพสามิตร และอธิบดีกรมสรรพากร เพื่อหาแนวทางในการปฏิบัติงานปราบปราม สืบสวนสอบสวน ตรวจสอบ ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงนายทุน