ตร.วิเชียรบุรี ร่วมกับโรงเรียนอนุบาลวัดในเรืองศรีวิเชียรบุรี สอนทักษะเด็กเอาชีวิตรอด เมื่อเผชิญเหตุกราดยิง

สถานีตำรวจภูธรวิเชียรบุรี ร่วมกับโรงเรียนอนุบาลวัดในเรืองศรีวิเชียรบุรี สอนทักษะเด็กเอาชีวิตรอด เมื่อเผชิญเหตุกราดยิง พร้อมทั้งซ้อมเหตุ ช่วยเหลือตนเองกรณีเด็กติดในรถ

วันที่ 7 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงเรียนอนุบาลวัดในเรืองศรีวิเชียรบุรี อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ พ.ต.อ.ชัชวาล พวงคิด ผกก.สภ.วิเชียรบุรี มอบหมายให้ พ.ต.ท.ปริญญา ภารไสว รอง ผกก.ป.สภ.วิเชียรบุรี ร.ต.อ.สมศักดิ์ ผ่องแผ้ว รอง สวป.ฯ หน.จราจร ร.ต.อ.วีระ โคนตาล รอง สวป.ฯ ร้อยเวร 2-0 พร้อมด้วยชุดจราจร ชุดสายตรวจรถยนต์ จักรยานยนต์ จัดชุดวิทยากรออกทำการฝึกอบรม ให้ความรู้ ในเรื่องของการเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินแก่เด็กนักเรียนชั้น อนุบาล 1-3 จำนวน 70 คน โดยจำลองเหตุกราดยิง ตามที่เคยเกิดเหตุ แล้วปรากฏเป็นข่าวเมื่อกลางปีที่ผ่านมา โดยให้มีคนร้าย ถือปืนไล่ยิงนักเรียน ตามชั้นเรียน จากนั้นมีการรับแจ้ง แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนและสายตรวจเข้ามาควบคุมสถานการณ์ได้ในที่สุด

โดยวิทยากรได้ให้ความรู้ถึงวิธีการสังเกตผู้ก่อเหตุ รวมไปถึงวิธีแจ้งเหตุฉุกเฉิน โดยสิ่งที่ควรจับสังเกตมีทั้งดูการแต่งกายของผู้ก่อเหตุ ส่วนใหญ่จะสะพายกระเป๋า ใส่เสื้อคลุม ที่ดูปกปิด มิดชิด เพื่อซ่อนอาวุธที่นำมา ท่าทางการเดินจะเป็นการก้าว ระยะสั้น ๆ เนื่องจากต้องประคองปืนขณะเดิน สังเกตท่าทางของคนรอบข้าง หากไม่น่าไว้วางใจ ควรอยู่ให้ห่าง และมองหาทางออกไว้ล่วงหน้า หากเกิดเหตุการณ์ สิ่งที่เราควรทำ “หนี – ซ่อน – สู้”

หนี (Run) เมื่อเผชิญเหตุ สิ่งแรกที่ต้องทำคือวิ่งหนีหาทางออกที่ปลอดภัยที่สุด โดยการมองหาประตู หรือทางออกฉุกเฉิน เพื่อออกจากสถานการณ์นั้นให้เร็วที่สุด เป็นไปได้ให้พาเพื่อนและคนรอบข้างออกไปด้วย ขณะวิ่ง ต้องพยายามเก็บเสียงให้เงียบและวิ่งให้ไวที่สุด อย่ากลับเข้าพื้นที่นั้นโดยเด็ดขาด

ซ่อน (Hide) หากวิ่งจนเจอทางตัน ถัดมาคือการซ่อน และข้อพึงระวังคือห้ามซ่อนหลังประตู เพราะประตูมักจะเป็นจุดแรก ๆ ที่ผู้ก่อเหตุจะเล็งเป็นเป้า และประตูก็ไม่สามารถกันกระสุนได้ ควรมองหาจุดที่กันกระสุนได้ หรือ หากเป็นห้องให้ล็อคกลอนและหาวัตถุที่มีน้ำหนักมาขวางประตูไว้ เมื่อหาที่ซ่อนได้แล้ว เราต้องอยู่ให้เงียบที่สุด ปิดระบบเสียงโทรศัพท์ หรี่แสงของโทรศัพท์ให้เหลือน้อยที่สุด รอจนกว่าสถานการณ์จะสงบลง

สู้ (Fight) เมื่อถึงทางออกสุดท้าย หนีไม่ได้แล้ว เราต้องหันหน้ามาสู้ เพื่อหาทางรอดอีกครั้ง อันดับแรก ควบคุมสติ มองหาสิ่งรอบตัวที่เป็นอาวุธได้ ปากกา ขาแว่น หรือหาของแข็งที่จับกระชับมือ มุ่งเป้าไปที่จุดอ่อนต่าง เช่น จิ้มตา ต้นคอ หรือ จุดอ่อนอื่นๆ เมื่อผู้ก่อเหตุเสียหลักให้พยายามหนี ให้เร็วที่สุด สำหรับการขอความช่วยเหลือนั้นเมื่อตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุ สิ่งแรกตำรวจจะเข้าจัดการผู้ก่อเหตุก่อน เมื่อจัดการผู้ก่อเหตุได้แล้วจึงจะเข้าช่วยคนเจ็บตามมา

ทั้งนี้ เมื่อต้องเผชิญเหตุร้ายที่ไม่คาดคิด อัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจเข้าออกจะถี่ขึ้น สูญเสียการได้ยิน เมื่อคิดถึงแต่ภัยจะไม่รับรู้สิ่งรอบตัว ในช่วงเวลานี้การตั้งสติ ไม่ร้องไห้ โวยวาย เงียบที่สุด และหนีให้เร็วที่สุดคือสิ่งที่จะช่วยให้เราเอาตัวรอดได้
หลังจากนั้น ได้มีการปฏิบัติและการช่วยเหลือตนเองกรณีติดอยู่ในรถ ของเด็กอนุบาล โดยการจำลองเหตุการณ์ให้มีนักเรียนติดอยู่ในรถตู้ พร้อมแนะนำวิธีการขอความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอก ด้วยการทุบรถให้มีเสียงและการกดแตร

การฝึกครั้งนี้ยังได้สาธิตให้นักเรียนรู้จักกับอาวุธ และเสียงจากอาวุธ และฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จำลอง ในการเข้าไปในพื้นที่สาธารณะที่เป็นพื้นที่ปิด เช่น ห้างสรรพสินค้า อาคารสถานที่ต่าง ๆ หรือแม้แต่โรงเรียน ฯลฯ พร้อมกับแนะนำสิ่งที่ควรจับสังเกต รวมไปถึงวิธีแจ้งเหตุฉุกเฉินด้วยหลัก LCAN และการช่วยเหลือตนเองกรณีติดอยู่ในรถ ซึ่งถือว่า โรงเรียนได้มีการเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก ความรู้ไม่ได้อยู่แค่ในตำรา ต้องเสริมทักษะเอาชีวิตรอด และเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในหลักสูตรของโรงเรียนอีกด้วย