เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 13 อาคาร 7 กองทะเบียนประวัติอาชญากร พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการขยายและพัฒนาระบบตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมืออัตโนมัติระยะที่ 5 (Automated Fingerprint Identification system 5) หรือ AFIS 5 พร้อมด้วย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานสืบสวนสอบสวน พล.ต.ท.วีระ จิรวีระ รองจเรตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผบช.สพฐ.ตร. เข้าร่วมพิธีดังกล่าว โดย พล.ต.ต.เจนเชิง ประทุมสุวรรณ ผบก.ทว. และข้าราชการตำรวจในสังกัดร่วมต้อนรับ จากนั้น พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้เปิดโครงการฯ และชมการสาธิตกระบวนการตรวจสอบประวัติด้วยระบบคอมพิวเตอร์ AFIS 5
ผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้มอบนโยบายแก่ข้าราชการตำรวจ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 โดยมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ที่สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน การขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาใช้ ขณะที่โครงการลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชนของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ทำให้การพัฒนาของกองทะเบียนประวัติอาชญากรทางด้านฐานข้อมูลประวัติ อาชญากรรมและการเชื่อมโยงข้อมูลในระบบเครือข่ายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะระบบคอมพิวเตอร์ AFIS 5 จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนงานสืบสวนสอบสวนตอบสนองต่อการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว
กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการปฏิบัติงานของตำรวจทางด้านการสอบสวนและสืบสวน มีจุดเริ่มต้นจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรี ดิเรกฤทธิ์ หรือ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ มีพระดำริที่จะตรากฎหมายเพิ่มโทษแก่ผู้กระทาผิดไม่เข็ดหลาบขึ้น จึงทรง จัดตั้งกองพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นครั้งแรกในกองลหุโทษเมื่อปี พ.ศ.2444 และท่านยังเป็นผู้ดำเนินการแนะนำอบรม สั่งสอนวิชาระบบลายพิมพ์นิ้วมือนี้แก่เจ้าหน้าที่ รวมถึงจัดให้มีการพิมพ์ลายนิ้วมือนักโทษที่จะพ้นโทษเก็บไว้ เป็นประวัติ ต่อมาปี พ.ศ.2473 มีการตั้งกรมตำรวจภูบาลขึ้น จึงโอนกรมพิมพ์ลายนิ้วมือมาในสังกัด ผ่านการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์และยุคสมัย จนกระทั่งเป็นกองทะเบียนประวัติอาชญากรในปัจจุบัน โดยมีหน้าที่จัดเก็บ รวบรวมฐานข้อมูลประวัติอาชญากร ตำหนิรูปพรรณของผู้ต้องหา และลายพิมพ์นิ้วมือ รวมถึงการให้บริการประชาชน ด้านการตรวจสอบประวัติการกระทำผิดในคดีอาญา ได้นำระบบตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมืออัตโนมัติ Automated Fingerprint Identification System (AFIS) เข้ามาใช้งานตั้งแต่ปี 2537 ในมิติต่าง ๆ ดังนี้
การสืบสวนสอบสวน ได้แก่ สนับสนุนข้อมูลประวัติการกระทำความผิดของผู้ต้องหาและ บุคคล การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล การตรวจสอบหมายจับ ทรัพย์หาย รถหาย แผนประทุษกรรม คนหายพลัดหลง และศพไม่ทราบชื่อ ฯลฯ ให้กับพนักงานสอบสวน การให้บริการประชาชนและสังคม ในการให้บริการตรวจสอบประวัติอาชญากร เพื่อการสมัครงาน และการขออนุญาตต่าง ๆ แก่ประชาชนทั่วไป การสนับสนุนงานวิทยาการ โดยเป็นฐานข้อมูลการตรวจสอบลายนิ้วมือแฝงให้กับหน่วยงานในสังกัดสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ AFIS เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยการทำงานแก่เจ้าหน้าที่ งานทะเบียนประวัติอาชญากร มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน เป็นระบบคอมพิวเตอร์ AFIS 5 ซึ่งประกอบด้วย ฐานข้อมูลฝ่ามือ สันมือ ใบหน้า และม่านตา โดยมีพื้นที่จัดเก็บข้อมูล 30 ล้านรายการ ความเร็วในการสืบค้น ลายพิมพ์นิ้วมือ 15 ล้านนิ้ว/วินาที รองรับปริมาณงานสืบค้นลายพิมพ์นิ้วมือ 15,000 ราย ต่อวัน และรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลในระบบเครือข่าย อีกทั้งยังมีระบบต่าง ๆ ที่สนับสนุนภารกิจในการให้บริการแก่หน่วยงานภายใน และภายนอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนโครงการที่เริ่มเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อให้ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น ตามเจตนารมย์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและของรัฐบาล ได้แก่
1. โครงการพัฒนาการตรวจสอบประวัติอาชญากรสำหรับสถานีตำรวจ ระยะที่ 1 จำนวน 140 สถานี (โครงการที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ขับเคลื่อน) เป็นต้น
2. ระบบจองคิวออนไลน์ สำหรับผู้ต้องการใช้บริการตรวจสอบประวัติผ่านเว็บไซต์ WWW.CRDQONLINE.COM
3. โครงการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือเคลื่อนที่ (LIVESCAN PORTABLE)
4. โครงการตรวจสอบประวัติออนไลน์ ด้วยชื่อ-ชื่อสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน ผ่านเว็บไซต์ WWW.CRD-CHECK.COM