ตำรวจไซเบอร์ ขอเรียนชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินการในคดีหลอกลงทุน P Miner ปัจจุบันมีผู้เสียหายกว่า 710 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 953 ล้านบาท และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้โอนคดีไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ขอเรียนชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี มายเนอร์ คริปโทเคอร์เรนซี กรุ๊ป จำกัด กับพวก ที่ได้ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายหลายรายให้ร่วมลงทุนขุดเหรียญ และซื้อขายเหรียญ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ดังต่อไปนี้
ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อประชาชนจากภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลอกลวงชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุน อ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมาย
เพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้กำชับไปยัง พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดทำการสืบสวนสอบสวน ขยายผล ปราบปรามการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
คดีนี้ เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2565 ผู้เสียหายหลายรายถูกผู้ต้องหาชักชวนหลอกลวงให้สมัครเป็นสมาชิก และร่วมลงทุนขุดเหรียญ และซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี ตามโครงการต่างๆ มากกว่า 30 โครงการ โดยแต่ละโครงการจะมีจำนวนเงินการลงทุน และได้รับผลกำไรที่แตกต่างกัน บางโครงการอ้างว่าได้กำไรมากถึงร้อยละ 82 ต่อเดือน หรือได้กำไรร้อยละ 1,000 ต่อปี จากนั้นเมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว ก็จะได้รับหนังสือสัญญาการลงทุน ซึ่งในสัญญาจะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือว่ามีการลงทุนจริงๆ โดยในช่วงแรกของการเริ่มลงทุน ผู้เสียหายจะได้รับผลตอบแทนจริง ต่อมาเมื่อ เดือนสิงหาคม 2565 ผู้เสียหายไม่ได้รับเงินปันผลจากการลงทุนแต่อย่างใด ผู้ต้องหาอ้างเหตุขัดข้องต่างๆ และไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกหลอกลวงจึงมาแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องหาตามกฎหมาย
พนักงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 (บก.สอท.1) ได้รับคำร้องทุกข์ไว้แล้ว ทำการสอบสวนปากคำผู้เสียหาย และรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องตามกระบวนการตามกฎหมายมาโดยตลอด กระทั่งได้ยื่นคำร้องต่อศาลขออนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 4 ราย ในข้อหา “1.ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน 2.ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และ 3.ร่วมกันโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืมเงิน ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรือ อาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตรา ดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินกำหนด ” ปัจจุบันมีผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ 710 ราย ความเสียหายรวมกว่า 953 ล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. ได้ทำการอายัดบัญชีธนาคารของผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 117 บัญชี อายัดเงินในบัญชีได้ 112 ล้านบาท อายัดเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท และจากการตรวจค้นบ้านพักผู้ต้องหา ได้ตรวจยึดทรัพย์สินอีก มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท รวมตรวจยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 232 ล้านบาท คดีดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 พนักงานสอบสวนได้รายงาน สำนักงาน ปปง. ตามระเบียบแล้ว อยู่ระหว่างการออกคำสั่งยึดและอายัด ของสำนักงาน ปปง.
ขณะนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนในสังกัด บช.สอท. ดำเนินการรวบรวมสำนวนการสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าว ส่งมอบให้กับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายต่อไปแล้ว
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอฝากเตือนประชาชนถึงแนวทางการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ดังนี้
1.ควรศึกษาทำความเข้าใจให้ดี ก่อนตัดสินใจลงทุน พิจารณาถึงความเสี่ยง และความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ
2.อย่าหลงเชื่อเพียงเพราะว่ามีการแอบอ้างผู้มีชื่อเสียง หรือใช้สัญลักษณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน
3.อย่าหลงเชื่อการลงทุนที่เข้าถึงได้ง่าย ได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว
4.หลีกเลี่ยงการโอนเงินให้ผู้อื่นซื้อขายแทน ควรลงทุนด้วยตนเอง รวมถึงติดต่อกับผู้ให้บริการที่มีใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยตรง
5.ควรศึกษาทำความเข้าใจกับสิ่งที่จะนำเงินไปลงทุนด้วยทุกครั้ง โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ควรมีความเข้าใจในระบบ ว่ามีกลไกการทำงานอย่างไร หรือหากมีความรู้ความเข้าใจควรจะเข้าไปศึกษาตัวโค้ด smart contract ของระบบเพิ่มเติมว่ายังมีจุดบกพร่องใดอยู่ และถ้าระบบนั้นได้รับการตรวจสอบ (audit) จากผู้ให้บริการ audit ควรไปศึกษาผลการ audit เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน
6.หากเลือกที่จะลงทุนในโลกออนไลน์แล้ว ควรติดตามข่าวสารของบริษัทที่ลงทุนอยู่เสมอ เพราะหากบริษัทใดมีความเสียหายเนื่องจากตัวบริษัทเอง หรือโดนhackระบบข้อมูล ก็อาจส่งผลกระทบต่อนักลงทุน
7.ผู้ที่สนใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ควรศึกษาข้อมูลบริษัทที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น www.sec.or.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของทาง ก.ล.ต. เป็นต้น
8.หากได้รับความเสียหายในคดีลักษณะเดียวกันนี้ ให้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อไปร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้หากพบเบาะแสการกระทำความผิดหรือข้อขัดข้องใดๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วน บช.สอท. หมายเลข 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 02-5044850 ตลอด 24 ชม. หรือเเจ้งความออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ thaipoliceonline.com